วันศุกร์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2552

พิพากษาจำคุก 'ดา' 18 ปี เหตุปราศรัย 'หมิ่นฯ'

ที่มา: ประชาไท, มติชนออนไลน์, ASTV ผู้จัดการออนไลน์, ThaiENews, ไทยรัฐ, โพสต์ ทูเดย์, คมชัดลึก


ตัดสินให้ผิดตามฟ้อง เรียงกระทงลงโทษกรรมละ 6 ปี รวม 18 ปี ทนายเตรียมสู้คดีชั้นอุทธรณ์ ประชาชน 30 แห่ฟัง สื่อเสนอข่าว 'พิพากษา' พร้อมเพรียง 'ผู้จัดการ' ลงคำตัดสินละเอียดกว่าใคร 'รอยเตอร์' ชี้ ถือเป็นการใช้ก.กำหราบฝ่ายต่อต้านรัฐบาลและเสรีภาพในการแสดงออก ด้านผอ.เรือนจำเผยอาจให้ 'ดา' เป็นโฆษก


เรียงกระทงลงโทษทุกกรรม 3 กระทง 18 ปี
รายงานข่าวจากหลายสำนักระบุว่า เมื่อเวลา 9.00 น. วันนี้ (28 ส.ค. 52) ที่ห้องพิจารณาคดี 904 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ผู้พิพากษาและองค์คณะได้ขึ้นบัลลังก์อ่านคำตัดสินคดีที่ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล หรือ 'ดา ตอร์ปิโด' เป็นจำเลย ในความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และพระราชินี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือกฎหมาย 'หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ' เหตุจากการปราศรัยที่สนามหลวง 3 ครั้ง คือเมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 51, 13 มิ.ย. 51, 18 ก.ค. 51 และ 19 ก.ค. 51

ทั้งนี้ คำตัดสินระบุว่า จากพยานหลักฐานจำเลยได้กระทำผิดจริงตามข้อกล่าวหา และเป็นการกระทำผิดหลายกรรมต่างกัน ซึ่งศาลได้พิพากษาให้เรียงกระทงลงโทษทุกกรรม โดยลงโทษจำคุก 3 กระทง กระทงละ 6 ปี รวมจำคุก 18 ปี

ประเวศ ประภานุกูล ทนายความของดารณี ได้เปิดเผยภายหลังศาลมีคำพิพากษาว่า จะเตรียมการยื่นอุทธรณ์เพื่อสู้คดีต่อไป ส่วนจะยื่นขออภัยโทษหรือไม่นั้น ต้องรอดูผลคดีในชั้นฎีกาก่อน


ทนายขอ 'รอการตัดสิน' - ศาลยกคำร้อง
สำหรับกรณีที่ศาลอาญาได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 52 ให้พิจารณาคดีนี้โดยลับ ห้ามมิให้ประชาชนทั่วไปเข้าฟัง โดยอ้างตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 177 ซึ่งต่อมาเมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 52 ทนายจำเลยได้ยื่นคำร้อง โดยอ้างสิทธิขั้นพื้นฐานในกระบวนพิจารณาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 29 ,40 (2) และ 211 ขอให้ศาลอาญาส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เนื่องจากฝ่ายจำเลยเห็นว่าบทบัญญัติมาตรา 117 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ที่ศาลอาศัยอำนาจสั่งให้การพิจารณาคดีลับนั้น ขัดและแย้งกับกฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญยังไม่เคยมีการวินิจฉัยเรื่องนี้ และขอให้ศาลอาญารอการพิจารณาพิพากษาคดีนี้ไว้เป็นการชั่วคราว จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แต่ศาลอาญาได้พิจารณายกคำร้องดังกล่าวในวันเดียวกัน โดยระบุว่า การพิจารณาลับนั้นไม่ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 211 เนื่องจากจำเลยมีทนายแก้ต่าง และสามารถนำพยานหลักฐานมายังศาลได้อย่างครบถ้วน การพิจารณาคดีจึงดำเนินต่อไป[1]

ต่อมา ทนายจำเลยได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญด้วยตนเอง เมื่อวันที่ 27 ส.ค. 52 โดยศาลรัฐธรรมนูญได้ลงประทับรับคำร้องดังกล่าวแล้ว จากนั้นทนายจำเลยได้นำสำเนาคำร้องมายื่นต่อศาลอาญาในวันที่ 28 ส.ค. 52 ก่อนที่จะมรการอานคำตัดสินคดี เพื่อร้องขอให้รอการตัดสินคดีนี้ไว้เป็นการชั่วคราว จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แต่องค์คณะผู้พิพากษาวินิจฉัยแล้วมีคำสั่งให้ยกคำร้องเช่นเดิม ก่อนจะอ่านคำพิพากษาดังกล่าว

ทั้งนี้ ในวันตัดสินคดีทนายจำเลยได้แจกจ่ายสำเนาเอกสารคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญแก่ประชาชนและผู้สื่อข่าวด้วย


ประชาชน 30 ร่วมเข้าฟัง
ผู้สื่อข่าวหลายสำนักรายงานว่า ได้มีประชาชนประมาณ 30 คน รวมทั้งผศ.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความสนใจเข้าร่วมรับฟังการตัดสินคดีนี้

รายงานข่าวในประชาไทระบุว่า ภายหลังที่ศาลมีคำพิพากษาแล้ว ดารณีได้กล่าวกับผู้สื่อข่าวและประชาชนที่มาว่า "นี่คือยุคของการต่อสู้ทางความคิด" ก่อนจะเดินทางไปยังห้องพิจารณา 908 ต่อทันที เพื่อรับฟังการการสืบพยานจำเลย ในคดีที่พล.อ. สพรั่ง กัลยาณมิตร ฟ้องหมิ่นประมาท ซึ่งศาลได้นัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 16 ก.ย. 52


สื่อไทยพร้อมใจเสนอข่าว - 'ผู้จัดการ' ลงคำตัดสินละเอียดกว่าใคร
การตัดสินคดีนี้ได้รับความสนใจและถูกนำเสนอเป็นข่าวโดยสื่อมวลชนในประเทศจำนวนมาก อาทิ ประชาไท, มติชนออนไลน์, ASTV ผู้จัดการออนไลน์, ThaiENews, ไทยรัฐ, โพสต์ ทูเดย์, คมชัดลึก , MCOT News ฯลฯ

โดยเวบไซต์ ASTV ผู้จัดการออนไลน์, ได้รายงานข่าวนี้ภายใต้หัวข้อ 'ขัง 18 ปี “นังดา” โอหัง! อาฆาตเบื้องสูง' ซึ่งในเนื้อข่าวได้นำเสนอคำตัดสินคดีอย่างละเอียดกว่าที่ปรากฏในสื่ออื่นๆ ดังนี้

"...ตามฟ้องโจทก์ สรุประหว่างเดือน ม.ค.-มิ.ย.2551 เวลากลางคืน จำเลยขึ้นปราศรัยบนเวทีเสียงประชาชน ณ ท้องสนามหลวง ด้วยการกระจายเสียงทางเครื่องขยายเสียง ท่ามกลางประชาชนที่มาฟังจำนวนหลายคน ซึ่งเป็นบุคคลที่สาม โดยกล่าวคำพูดจาบจ้วง ล่วงเกิน เปรียบเทียบและเปรียบเปรย หมิ่นประมาท ดูหมิ่น และแสดงความอาฆาตมาดร้ายถึงองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ องค์ปัจจุบัน ทำให้ประชาชนเข้าใจว่าทั้งสองพระองค์ทรงเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการชุมนุม ประท้วงของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เพื่อจะล้มล้างรัฐบาล และการรัฐประหาร

ทั้งนี้ โดยประการที่น่าจะทำให้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระมหากษัตริย์ และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสื่อมเสียพระเกียรติยศชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น และถูกเกลียดชัง โดยเจตนาจะทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพสักการะพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระมหากษัตริย์ และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เหตุเกิดที่แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ขอให้ลงโทษจำเลยตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

โดยศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์แล้ว มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ชนะสงคราม 3 นาย เบิกความว่า เมื่อวันที่ 18 ม.ค.2551 เวลา 21.00 น.และ 24.00 น.จำเลยขึ้นเวทีปราศรัยที่ สนามหลวง โดยพยานทั้งสามเป็นสายสืบฟังการปราศรัย และพบว่า จำเลยกล่าวข้อความดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ ก็ได้บันทึกเสียงลงในเครื่องบันทึก เอ็มพี3 และได้บันทึกลงในแผ่นซีดี แล้วนำมาถอดเทป และจำเลยยังขึ้นปราศรัยกล่าวดูหมิ่นอีกในวันที่ 7 และ 13 มิ.ย.2551 ซึ่งได้บันทึกเสียงไว้ แล้วก็ได้แจ้งข้อหาดำเนินคดีจำเลย โดยพยานโจทก์ เบิกความด้วยว่า แผ่นซีดีบันทึกเสียงที่เป็นหลักฐาน พบว่า เป็นเสียงคนๆ เดียวกัน จึงฟังได้ว่าตามวันเวลาดังกล่าวจำเลย ได้ขึ้นเวทีปราศรัย ขณะที่ถ้อยคำที่จำเลยกล่าวบนเวที ก็พบว่า แม้จะไม่ระบุตัวบุคคลที่ถูกกล่าวถึงอย่างชัดแจ้ง แต่ถ้อยคำที่กล่าวถึง เช่น สัญลักษณ์สีเหลือง สีฟ้า ในการเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรฯ ซึ่งเป็นสีประจำวันประสูติของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระมหากษัตริย์ และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทำให้เห็นว่าจำเลยกระทำการจาบจ้วงล่วงเกิน โดยทำให้ประชาชนเข้าใจว่าทั้งสองพระองค์สนับสนุนการเคลื่อนไหวของกลุ่ม พันธมิตรฯ ทำให้ทั้งสองพระองค์ต้องเสื่อมเสียเกียรติยศชื่อเสียง

รวมทั้งการกล่าวถึงการรัฐประหาร โดยกล่าวถ้อยคำถึงมือที่มองไม่เห็นหลังสี่เสาเทเวศร์ ซึ่งประชาชนรับรู้อยู่แล้วว่าสี่เสาเทเวศร์ คือ สถานที่ที่เป็นบ้านพักของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี โดยการแต่งตั้งองคมนตรี นั้น ตามรัฐธรรมนูญบัญญัติให้เป็นอำนาจพระมหากษัตริย์ในการแต่งตั้ง ถ้อยคำของจำเลยจึงทำให้ประชาชนเข้าใจว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สนับสนุน พล.อ.เปรม ในการยึดอำนาจจากประชาชน ซึ่งล้วนเป็นเท็จ

โดยแม้ว่าชั้นพิจารณาจำเลย จะเบิกความว่า จดจำถ้อยคำที่กล่าวปราศรัยไม่ได้ว่ามีประเด็นใดบ้าง และจดจำวัน-เวลาไม่ได้ แต่จำเลยก็ไม่ได้นำสืบโต้แย้งว่าไม่ได้กล่าวถ้อยคำที่โจทก์ยื่นฟ้อง ซึ่งแม้ว่าคำพูดของจำเลยไม่บังเกิดผลเพราะไม่มีใครเชื่อ แต่จำเลยก็ไม่อาจพ้นผิด พยานหลักฐานโจทก์จึงรับฟังได้ว่าจำเลยกล่าวคำพูดจาบจ้วง ดูหมิ่น และแสดงความอาฆาตมาดร้าย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ บรมราชินีนาถ

พิพากษาว่า จำเลยกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งกระทำผิดหลายกรรมต่างกันให้เรียงกระทงลงโทษทุกรรม ให้จำคุก 3 กระทงๆ 6 ปี รวมจำคุก 18 ปี…"


เตรียมย้ายแดน ผอ.เรือนจำเผยอาจให้เป็นโฆษก
ด้านรายงานข่าวในเวบไซต์มติชนออนไลน์ ระบุว่า อังคนึง เล็บนาค ผู้อำนวยการทัณฑสถานหญิงกลาง ได้เปิดเผยในวันเดียวกันว่า ทางเรือนจำจะแยกดารณีออกจากแดนแรกรับไปคุมขังยังแดนนักโทษทั่วไป เพราะถือว่าเป็นนักโทษเด็ดขาด จากนั้นจะให้ทำงานตามโปรมแกรมที่จัดไว้ อาทิ เย็บปักถักร้อย ทำอาหาร งานห้องสมุด งานสาธารณะ รักษาความสะอาดเรือนจำ งานคอมพิวเตอร์ หรืองานโฆษกซึ่งมีหน้าที่ประชาสัมพันธ์เมื่อทางทัณฑสถานจัดกิจกรรม แต่ขณะนี้ยังไม่ทราบว่าดารณีต้องการทำงานประเภทใด ต้องให้เจ้าตัวเป็นผู้ตัดสินใจ แต่ถ้าชอบการพูด อาจจะทำหน้าที่เป็นโฆษกประจำคุก อย่างไรก็ตามต้องได้รับการเสียงโหวตจากเพื่อนผู้ต้องขัง ว่าเหมาะสมหรือไม่

ผอ.ทัณฑสถานฯเปิดเผยเพิ่มเติมว่า สำหรับสภาพจิตใจของดารณีนั้น ขณะนี้ตนเห็นว่าสามารถปรับตัวเข้ากับเพื่อนๆ ได้แล้ว แต่ตนก็เชื่อว่าการฟังคำตัดสินวันนี้ (28 ส.ค.) อาจทำให้รู้สึกเครียดบ้าง เพราะต้องถูกจำคุกถึง 18 ปี โดยทางเรือนจำได้เตรียมจัดเจ้าหน้าที่และนักโทษช่วยดูแลในช่วงนี้แล้ว ซึ่งคาดว่าไม่น่ามีปัญหาอะไร เพราะดารณีเคยอยู่มาแล้วช่วงหนึ่ง น่าจะทำใจได้บ้างแล้ว

ผอ.ทัณฑสถานฯกล่าวด้วยว่า ดารณีเป็นนักโทษชั้นกลาง มีพฤติกรรมดี ไม่ก่อความวุ่นวาย และสามารถได้รับการพิจารณาเลื่อนเป็นนักโทษชั้นดี ชั้นดีมาก และชั้นเยี่ยม ได้เช่นเดียวกับนักโทษรายอื่นๆ ซึ่งการเลื่อนชั้นดังกล่าว คณะกรรมการจะพิจารณาจากความประพฤติขณะต้องโทษ ซึ่งความประพฤติของนักโทษแต่ละคนจะถูกบันทึกไว้เป็นคะแนนสะสม เมื่อถึงวันพิจารณาก็จะนำสมุดที่บันทึกนี้มาพิจารณาประกอบ โดยหากได้เลื่อนเป็นนักโทษชั้นดีก็จะได้ลดวันต้องโทษลง 3 วัน ชั้นดีมากได้ลด 4 วัน ส่วนชั้นเยี่ยมได้ลด 5 วัน


'รอยเตอร์' ชี้ ถือเป็นการใช้กม.กำหราบ
เวบไซต์ ThaiENews ได้เผยแพร่รายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์เกี่ยวกับการตัดสินครั้งนี้ ซึ่งรอยเตอร์ได้ชี้ว่า ผลการตัดสินให้ดารณีติดคุก 18 ปีนั้น ถือเป็นการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพกำหราบฝ่ายต่อต้านรัฐบาล และเสรีภาพในการแสดงออก ในประเทศไทย พร้อมทั้งให้ข้อมูลด้วยว่า ได้มีการพิจารณาคดีนี้เป็นการลับโดยอ้างเหตุผลด้านความมั่นคง ซึ่งเรื่องนี้องค์การนิรโทษกรรมสากลได้เคยทำจดหมายเปิดผนึกคัดค้านมาแล้ว เนื่องจากเห็นว่าจะทำให้การพิจารณาคดีไม่เป็นธรรมต่อจำเลย

ในรายงานเดียวกันของรอยเตอร์ ยังได้อ้างถึงคำให้สัมภาษณ์ของดารณี ที่ระบุว่า เธอไม่มีจุดมุ่งหมายทางการเมืองที่จะเคลื่อนไหวให้ยกเลิกสถาบันกษัตริย์แต่อย่างใด แต่สนับสนุน "ความยั่งยืนของสถาบันกษัตริย์แบบเดียวกับที่ดำรงอยู่ในสหราชอาณาจักรและญี่ปุ่น"


[1] ดูรายละเอียดใน 'กรณีดารณี ชาญเชิงศิลปกุล' 25 มิถุนายน 2552.



วันพฤหัสบดีที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2552

ศาลนัดพิพากษาคดี 'ดา' 28 ส.ค.นี้

เวบไซต์ประชาไทรายงานว่า เมื่อเวลาประมาณ 9.30 น. ของวันที่ 5 ส.ค. 52 ที่ห้องพิจารณาคดี 904 ศาลอาญา องคณะผู้พิพากษา ได้แก่ พรหมาศ ภู่แส, ปัญจ กล้าแข็ง และสุดปรารถนา นีละไพจิตร ได้ขึ้นบัลลังก์พิจารณาคดี 'หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ' ที่ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล ถูกอัยการฟ้องเป็นจำเลย เหตุจากการปราศรัยที่สนามหลวง โดยเป็นการสืบพยานจำเลยนัดสุดท้าย โดยพยานจำเลยที่ขึ้นให้ปากคำในวันดังกล่าว ได้แก่ สุวิทย์ เลิศไกรเมธี นศ.ป.โท คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม '19 กันยา ต้านรัฐประหาร' และตัวดารณี ชาญเชิงศิลปกุล เอง

เมื่อเสร็จสิ้นการสืบพยานดังกล่าว ศาลได้นัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 30 ส.ค. 52 แต่เนื่องจากฝ่ายจำเลยได้ร้องขอว่า ในวันที่ 28 ส.ค. 52 ดารณีจะต้องมาขึ้นศาลเพื่อรับฟังการไต่สวนในคดีหมิ่นประมาทพล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตรอยู่แล้ว ซึ่งการเบิกตัวจำเลยจากเรือนจำ ได้สร้างความลำบากให้กับจำเลย เพราะต้องถูกตรวจร่างกายอย่างละเอียด จึงขอให้ศาลให้เลื่อนนัดนัดฟังคำพิพากษาเข้ามาเป็นวันที่ 28 ส.ค. 52 เพื่อจำเลยจะได้เบิกตัวออกมาเพียงวันเดียว ซึ่งศาลได้อนุญาต โดยสั่งเลื่อนมาเป็นวันที่ 28 ส.ค. เวลา 9.00 น. ตามที่จำเลยร้องขอ


นอกจากนี้ อีกรายงานหนึ่งในเวบไซต์เดียวกันระบุว่า ไม้หนึ่ง ก.กุนที กวีจาก 'เครือข่ายราษฎรนักเขียนศิลปินประชาธิปไตย' ได้ออกมาเปิดเผยกับประชาไท ถึงการประสานงานกับทีมทนายของดารณี เพื่อไปให้กำลังใจในการสืบพยานจำเลยนัดสุดท้าย แต่ต่อมามีเหตุทำให้ไม่สามารถไปตามนัดได้ จึงได้เขียนบทกวีขึ้นเพื่อให้กำลังใจดารณี (ดูด้านล่าง) โดยเป็นการเขียนในเวลาเดียวกันกับที่มีการสืบพยานที่ศาลอาญาดังกล่าว

ทั้งนี้ ไม้หนึ่ง ก.กุนทีได้เผยแพร่บทกวีดังกล่าวของตนไว้ในเว็บไซต์เฟซบุ๊ค (facebook) และเว็บไซต์ทวิตเตอร์ (twitter) โดยระบุด้วยว่า กำลังเป็นกระแสเพราะฝ่ายอำมาตย์และปัญญาชนชั้นกลาง รวมทั้งนักสื่อสารมวลชนบางส่วน พยายามเอาประเด็นการโหวต "มิสเตอร์ทวิตเตอร์" มาปรักปรำพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่ามีการโกงและปั่นผลโหวต จนได้คะแนนเป็นอันดับ 1

ไม้หนึ่ง ก.กุนที กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า ขณะนี้ประชาชนจำนวนหนึ่งที่ได้รับรู้เรื่องราว รู้สึกเห็นใจในความไม่ชอบธรรมที่ดารณีได้รับ และกำลังมีการหารือกับ 'กลุ่มสมัชชาสังคมก้าวหน้า' ว่า จะร่วมกันเขียนจดหมายถึงดารณีอย่างต่อเนื่อง สัปดาห์ละไม่น้อยกว่า 1 ฉบับ เพื่อให้ดารณีรู้สึกว่ายังมีเพื่อนที่อยู่นอกกำแพงสูง คอยติดตามความเป็นอยู่และรอคอยการคืนสู่อิสรภาพอย่างจดจ่อ

อ่านรายละเอียด กรณีดารณี ชาญเชิงศิลปกุล คลิ้กที่นี่




ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล

1...คุณคือ ดอกไม้เหล็ก สีแดงสด
ผลิแย้ม พร้อมบทเพลงต่อสู้
ขับร้อง ก้องท้า ทุกฤดู
ขึ้นอยู่ ในใจ เสรีชน

2...คุณคือ ดอกไม้เหล็ก สดแดงฉาน
อีกไม่นาน เกสรซื่อ จะสืบผล
สื่อสารสู่ทุกหมู่บ้านถิ่นตำบล
ปลุกผู้คนรู้ค่าของความเท่าเทียม

3...แกร่งดอกไม้ อมตะ ไม่กลัวช้ำ
เชิดหน้าโต้ชะตากรรรมอันโหดเหี้ยม
กี่ฟ้าแผดแดดเผาให้ไหม้เกรียม
เย้ยจารีตธรรมเนียมไม่ชอบธรรม

4...คุณไม่ได้ต่อสู้อยู่คนเดียว
เหมือนมืดทึบ เส้นทางเปลี่ยว ในเถื่อนถ้ำ
กาฬปักษ์ ดักดาน แม้มืดดำ
มหาชนจะร่วมกุมกำมือคุณ

5...เสียงส่วนใหญ่หยัดยืนแข็งขืนสู้
เขาจะรู้ ว่า เราเลิกยอมเป็นฝุ่น
ยิ่งไล่ล่า ยิ่งทำลาย ยิ่งทารุณ
ยิ่งเร่งให้ร่มเงาบุญเหี่ยวเฉาเร็ว !

ไม้ หนึ่ง ก.กุนที

วันเสาร์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2552

ICT เผย 'จัดการ' ไปแล้ว 16,944 เว็บ - EFF แปลกใจกล้าพูด

28 กรกฎาคม 2552 - เวบไซต์ประชาไทได้รายงานความเห็นของแดนนี่ โอ ไบรอัน (Danny O'Brien) ผู้ประสานงานนานาชาติ หรือ Electronic Frontier Foundation (EFF) องค์กรระหว่างประเทศซึ่งส่งเสริมสิทธิเสรีภาพและการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารใน โลกออนไลน์ เมื่อวันที่ 27 ก.ค. 52 ที่ผ่านมา หลังจากได้ทราบข้อมูลล่าสุดที่ร้อยตรีหญิงระนองรักษ์ สุวรรณฉวี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ( ICT) ออกมาเปิดเผยว่า ทาง ICT ได้ดำเนินการกับเว็บไซต์ที่เผยแพร่ข้อมูลไม่เหมาะสม ต่างๆ ไปแล้วประมาณ 16,944 แห่ง (URL)

โดยผู้ประสานงานนานาชาติของ EFF ระบุว่า ตนเห็นเป็นเรื่องแปลกที่รมต. ICT กล้าออกมาเปิดเผยเช่นนี้ เพราะหากเปรียบกับการสร้างถนน ก็เหมือนรัฐมนตรีออกมาพูดว่าภาครัฐได้ปิดถนนไปแล้วกี่สาย แทนที่จะพูดว่ารัฐสร้างถนนเพิ่มกี่สาย อันเป็นการสร้างประโยชน์ให้แก่ประชาชน

ทั้งนี้ ข้อมูลจากข่าวประชาสัมพันธ์ของ ICT ระบุว่า เว็บไซต์ทั้ง 16,944 URL ที่ถูกดำเนินการไปนั้น เป็นเว็บไซต์ที่เผยแพร่ข้อมูลกระทบด้านความมั่นคงจำนวน 11,000 URL กระทบด้านสังคมและวัฒนธรรม 5,872 URL และกระทบด้านเศรษฐกิจ 72 URL โดยการดำเนินการ (ที่ไอซีเองก็ไม่ได้ระบุความหมายชัดเจน) ดังกล่าว กระทำโดยศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยอินเทอร์เน็ตหรือ Internet Security Operation Center (ISOC) ของกระทรวง ICT ซึ่งปัจจุบันมีทั้งหมด 4 โครงการ คือ โครงการพัฒนาระบบการเฝ้าระวังภัยคุกคามและการกระทำความผิดด้านเทคโนโลยี สารสนเทศและการสื่อสารของประเทศ โครงการพัฒนาระบบสืบสวนและพิสูจน์หลักฐานทางเทคโนโลยีสารสนเทศ โครงการส่งเสริมประสิทธิภาพการบังคับใช้ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับ คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และโครงการบูรณาการการบริหารจัดการล็อกไฟล์ ตามมาตรา 26 แห่งพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550

วันศุกร์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

ลูกช้างอดชื่อ 'สุวิชา' - นักวิชาการเผย 'หวังสร้างจิตสำนึก'

เวบไซต์ Liberal Thai โดย 'chapter 11' ได้นำเสนอรายงานแปล "ลูกช้างออสซึ่ได้ชื่อไทยแล้ว" ซึ่งแปลจาก "First Australian-born elephant gets Thai name" ระบุว่า ลูกช้างไทยที่เกิดในสวนสัตว์ "ทารองก้า" ประเทศออสเตรเลีย ได้รับการตั้งชื่อไทยจากควาญช้างว่า “ลูกชาย” หลังจากมีผู้ร่วมส่งชื่อเข้าแข่งขันถึง ๓๐,๐๐๐ ชื่อ

นอกจากนี้ ในหน้าเดียวกัน 'chapter 11' ยังนำได้เสนอบทความ "ลูกชาย เบียดชื่อสุวิชาตกไป" ซึ่งแปลจาก
"Son of an elephant: Suwicha misses out" ที่เขียนโดย Andrew Walker และ Nicholas Farrelly สองนักวิชาการชาวออสเตรเลีย และผู้ก่อตั้งเวบ
ไซต์ นิวแมนดาลา (New Mandala) ซึ่งเป็นผู้เสนอให้ตั้งชื่อลูกช้างว่า 'สุวิชา ท่าค้อ' ตาม ชื่อผู้ต้องขังคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในประเทศไทย และถูกพิพากษาให้จำคุก 10 ปี โดยนักวิชาการทั้งคู่ระบุว่าเป็น "คดีการเมือง" ตามที่มีข่าวไปก่อนหน้านี้ด้วย


..........

ลูกช้างออสซึ่ได้ชื่อไทยแล้ว

First Australian-born elephant gets Thai name
วันจันทร์ ๒๗ กรกฏาคม ๒๕๕๒
ที่มา – AFP
แปลและเรียบเรียง – chapter 11

ซิดนีย์ ออสเตรเลีย – เมื่อวันจันทร์ ลูกช้างเชือกแรกที่เกิดในออสเตรเลียได้รับการตั้งชื่อไทยจากควาญช้างว่า “ลูกชาย” หลังจากมีผู้ร่วมส่งชื่อเข้าแข่งขันถึง ๓๐,๐๐๐ รายชื่อ

ชื่อ นี้มีความหมายว่า “ลูกชาย” หรือ “ชัยชนะ” ถูกเลือกขี้นมาเพื่อให้ง่ายต่อลูกช้างวัยสามอาทิตย์ที่จะจดจำชื่อตัวเอง นายนาธาน รีส์ มุขมนตรีรัฐนิวเซาท์เวลส์กล่าวในงานฉลองการตั้งชื่อลูกช้าง

เขากล่าวว่า “ยินดีต้อนรับสู่โลกใบนี้นะ ลูกช้าง” “ผมหวังว่าลูกช้างจะนำความสุขมาให้นานนับทศวรรษนะ”

ลูกชาย จากแม่พังทองดี ซึ่งเคยเป็นช้างข้างถนนในกรุงเทพมาก่อน เกิดในสวนสัตว์ทารองก้าในซิดนีย์เมื่อวันที่ ๔ กรกฎาคมนี้

..........


ลูกชาย เบียดชื่อสุวิชาตกไป
Son of an elephant: Suwicha misses out

๒๗ กรกฏาคม ๒๕๕๒
by Andrew Walker and Nicholas Farrelly
ที่มา – New Mandala

เมื่อ เราเริ่มรณรงค์ตั้งชื่อลูกช้างที่เกิดที่สวนสัตว์ทารองก้าเพื่อรำลึกถึงสุ วิชา ท่าค้อ นักโทษการเมืองของไทย เราไม่ได้คาดหวังว่าช้างตัวแรกที่เกิดในสวนสัตว์ในดินแดนออสเตรเลียจะถูก ตั้งชื่อว่า “สุวิชา”

เรา มีความหวังเล็กๆว่าความพยายามของเราที่จะสร้างจิตสำนึกที่มีต่อความโชคร้าย ของสุวิชา การคุมขังสุวิชานับเป็นผลงานชิ้นโบว์ดำของประเทศไทย ที่คอยอ้างว่าเป็นประเทศที่มีเสรีและมีประชาธิปไตย คำตัดสินให้ถูกจำคุก ๑๐ ปีในคดีหมิ่นฯ นับได้ว่าเป็นคำตัดสินที่เกินกว่าเหตุ

เรา เฝ้าสังเกตด้วยความเศร้าใจว่า เมื่อเปรียบเทียบกับชาวต่างชาติไม่กี่คนที่ถูกจองจำอยู่ในคุกในประเทศไทยใน คดีที่คล้ายคลึงกัน ทั้งสุวิชา และคนไทยคนอื่นที่ตกอยู่ในสภาพลำบากเช่นเดียวกันนี้ ได้รับความสนใจจากต่างชาติน้อยมาก เรื่องนี้ควรต้องมีการเปลี่ยนแปลงได้แล้ว

การ รณรงค์เรื่องช้างผ่านพ้นไปแล้ว เราประสบความสำเร็จในการสร้างความสนใจให้กับบางสื่อและบางบล็อกที่มีต่อสุ วิชา เราไม่ทราบว่ามีคนจำนวนเท่าใดที่คิดว่า “สุวิชา” เป็นชื่อที่เหมาะสำหรับลูกช้าง แต่จากการ “คลิก” ที่ออกจากนิวแมนดาลาไปยังสวนสัตว์ทารองก้า มีจำนวนมาก

วันนี้ สวนสัตว์ทารองก้าประกาศชื่อของลูกช้างซึ่งแทนที่จะเป็น “สุวิชา” กลับกลายเป็น “ลูกชาย” ซึ่งมีความหมายว่าลูกชายแทน ช่างเป็นชื่อที่น่าเบือ

นิ วแมนดาลาหวังไว้ว่าลูกชายน้อยจะมีชีวิตที่ยืนยาวและมีความสุข แน่ละ สุวิชา ท่าค้อ ยังคงถูกจองจำอยู่ในคุก เขาเป็นลูกชายด้วยเหมือนกัน และเป็นพ่อของลูกสามคน รายละเอียดในคดีของเขาคลิกได้จากที่นี่,ที่นี่ และที่นี่ และโพลิติคอลพรีซันเนอร์ในประเทศไทยจะยังคงติดตามเสนอข่าวอับเดทอยู่ตลอดเวลา

ผู้อ่านท่านหนึ่งได้ให้ข้อคิดว่า บางทีเราควรจะหันเหความสนใจไปยังแพนด้าต่อนะ


ประชาชนเยี่ยม 'ดา-บุญยืน' ที่เรือนจำ (30 มิ.ย. 52)

31 กรกฏาคม 2552

รายงานข่าวในเวบไซต์ประชาไท ระบุว่า เมื่อเวลาประมาณ 9.30 น. กลุ่มสมัชชาสังคมก้าวหน้าและประชาชนทั่วไปราว 20 คนได้เดินทางไปยังทัณฑสถานหญิงกลาง เรือนจำคลองเปรม และส่งตัวแทน 5 คนเข้าเยี่ยมดารณี ชาญเชิงศิลปกุล ผู้ต้องหาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จากการปราศรัยที่สนามหลวงเมื่อปี 2550 เป็นเวลา 10 นาทีตามกฎระเบียบของเรือนจำ โดยมีผู้คุมคอยดูแลอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ยังมีการถือป้ายรณรงค์คัดค้านการใช้กฎหมายนี้

ทั้งนี้ กลุ่มสมัชชาสังคมก้าวหน้าและประชาชนที่เดินทางไปเยี่ยมได้บริจาคหนังสือหลาย สิบเล่มให้กับทัณฑสถานหญิงกลาง ซึ่งทนายความของดารณีได้แจ้งข่าวว่าลูกความของตนได้ร้องขอไว้ก่อนหน้านี้ เนื่องจากแดนแรกรับของทัณฑสถานฯมีหนังสือจำนวนน้อยและเก่ามาก นอกจากนี้ทางกลุ่มผู้ไปเยี่ยมยังได้บริจาคเงินเข้าบัญชีในเรือนจำของดารณี จำนวน 3,200 บาท และบัญชีของบุญยืน ประเสริฐยิ่ง ผู้ต้องขังคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอีกคนหนึ่ง ที่ต้องโทษจากการปราศรัยที่สนามหลวงเช่นกัน ซึ่งในคดีของบุญยืนศาลได้พิพากษาให้ลงโทษจำคุกเป็นเวลา 6 ปี

อ่านรายละเอียดกรณีดารณี ชาญเชิงศิลปกุล คลิ้กที่นี่

อ่านรายละเอียดกรณีบุญยืน ประเสิรฐยิ่ง คลิ้กที่นี่



รายงานข่าวของประชาไทยังระบุด้วยว่า สมาชิกสมัชชาสังคมก้าวหน้าคนหนึ่งได้กล่าวภายหลังเข้าเยี่ยมว่า ดารณียังคงมีกำลังใจที่ดี แม้สุขภาพจะไม่ดีนักเพราะโรคประจำตัว ทั้งนี้ กลุ่มสมัชชาสังคมก้าวหน้าจะยังคงจัดกิจกรรมเพื่อคัดค้านการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพต่อไป และคาดว่าในครั้งหน้าจะเป็นการเข้าเยี่ยมสุวิชา ท่าค้อ ผู้ต้องขังคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอีกคนหนึ่ง ซึ่งต้องโทษจำคุก 10 ปี


ด้านความเคลื่อนไหวในเวบบอร์ดฟ้าเดียวกัน ผู้ใช้นามแฝง 'S.M.' ได้ตั้งกระทู้ "เสียงเล็กๆ ผ่านราวลูกกรง จากผู้ต้องขังที่ชื่อ "ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล"" เล่าถึงบรรยากาศของการเดินทางไปเยี่ยมดารณี ชาญเชิงศิลปกุล หรือ 'ดา ตอร์ปิโด' และบุญยืน ประเสริฐยิ่ง ผู้ต้องขังคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ที่ทัณฑสถานหญิงกลาง เรือนจำกลางคลองเปรม ของกลุ่มสมัชชาสังคมก้าวหน้าและประชาชน เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 52 ที่ผ่านมา โดยมีผู้ใช้เวบบอร์ดดังกล่าวคนอื่นๆ ให้ความสนใจเข้ามาเยี่ยมชมและร่วมเขียนข้อความแสดงความคิดเห็นรวมทั้งโพสต์ภาพบรรยากาศกิจกรรมการเดินทางไปเยี่ยมดังกล่าวไว้ในกระทู้ดังกล่าวเป็นจำนวนมาก (ดูเนื้อหาในกระทู้ดังกล่าวด่านล่าง)


..........


เสียงเล็กๆ ผ่านราวลูกกรง
จากผู้ต้องขังที่ชื่อ "ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล"

(ภาพประกอบโดยคุณ 'Arpihu' จากกระทู้เดียวกัน - ขอบคุณเป็นอย่างสูง)



30 กรกฏาคม 2552


กลุ่ม สมัชชาสังคมก้าวหน้า คนทำงานด้านสิทธิๆ และประชาชนส่วนหนึ่ง รวมกันประมาณ 20 คน ได้มีโอกาสเดินทางไปเยี่ยมให้กำลังใจ คุณ ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล หรือ ดา ตอร์ปิโด ผู้ต้องขังคดีหมิ่นๆ

เมื่อ เราไปถึงทัณฑสถานหญิงกลาง เรือนจำกลางคลองเปรม ตามเวลานัดประมาณ 9.30 น. เพื่อนบางคนยังคงเดินทางมาสมทบจนเป็นกลุ่ม เราผ่านรั้วด้านนอกเข้าไปในพื้นที่เรือนจำ ตรงไปยังเขตฑัณฑสถานหญิงทางด้านใน ในวันนี้ เราพบว่านอกจากเพื่อนที่คุ้นหน้าในสมัชชาฯ ซึ่งก็มาจากหลายกลุ่มแล้ว ก็ยังพบเพื่อนจากที่อื่น ซึ่งได้รับทราบข่าวแล้วมาร่วมกันในวันนี้อีกด้วย เรียกว่าคนใจตรงกันได้หรือเปล่านะ

เข้าไปด้านในเขตฑัณฑสถานหญิง บรรยากาศให้ความรู้สึกขรึมขัง สมกับภาพของคุกที่เคยจินตนาการมาก่อนนี้ มีประชาชนทั่วไปเข้ามารอคิวเยี่ยมญาติพี่น้องที่เป็นผู้ต้องขังอยู่ในเรือน จำเป็นจำน
วนมาก

พวกเราแจ้งความจำนงค์ต่อ จนท.เรือนจำว่า ต้องการมาเยี่ยมให้กำลังใจ คุณ ดา พร้อมทั้งระบุว่าเรามีหนังสือ และนิตยสาร จำนวน หนึ่ง มามอบให้กับทางเรือนจำด้วย ซึ่งเราได้เพิ่งทราบข่าวจากประชาไทว่าคุณดาและผู้ต้องขังอื่นๆ ต้องการหนังสือใหม่ๆ เข้า "ห้องสมุดแรกรับ" (แต่เราลืมย้ำในเรื่องนี้ ไม่รู้ว่าหนังสือจะไปยังห้องสมุดดังกล่าวหรือจะไปห้องสมุดอื่นของเรือนจำ?)

จนท.เรือนจำอำนวยความสะดวกให้เราเป็นอย่างดี และแจ้งให้พวกเราทราบถึง กฏ ระเบียบ ในการเยี่ยมผู้ต้องขัง พร้อมทั้งกำชับพวกเราว่าห้ามบันทึกภาพในทัณฑสถาน พวกเรารับทราบและปฏิตามโดยดี ขั้นตอนการเยี่ยมก็เสียเวลาพอควร เพราะญาติผู้ต้องขังรอเยี่ยมกันอยู่หลายคน

เราแบ่งเพื่อนที่มาร่วม กันในวันนี้ เข้าไปเยี่ยมคุณดา เพราะมีระเบียบในการเยี่ยมได้ไม่เกิน 5 คน เมื่อถึงเวลาที่เราได้เข้าเยี่ยมคุณดา เพื่อนจำนวนหนึ่งเข้าไปเยี่ยมเธอ เธอออกมาพบพวกเราด้วยสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส ระเบียบของเรือนจำให้เยี่ยมผู้ต้องขังได้ครั้งละ 15 นาที พูดคุยผ่านไมโครโฟน เราถามถึงสารทุกข์สุกดิบ ชีวิตความเป็นอยู่ทั่วไป สิ่งที่ขาดแคลน และสิ่งที่อยากให้ช่วยเหลือ

เธอ บอกว่า มีความสุขตามอัตภาพ ในสถานะผู้ต้องขังคนหนึ่ง แม้จะมีปัญหากับผู้ต้องขังคนอื่นบ้าง แต่เธอมีความปรารถนาอยากให้ทางเรือนจำส่งตัวเธอไปรักษาโรคประจำตัว คือ โรคกรามอักเสบ ซึ่งบางครั้งมีการอักเสบอย่างรุนแรงจนขึ้นสมอง และต้องได้รับการผ่าตัด รพ.ที่เธอเคยได้รับการรักษาคือ รพ.พระ มงกุฏเกล้าๆ และเธออยากได้ยาจำนวนหนึ่งเพื่อบรรเทาอาการปวดและอักเสบ พวกเรามีเวลาพูดคุยกับเธอได้ไม่มาก สอบถามถึงคดีความของเธอ เธอบอกว่า วันที่ 5 สิงหา ที่จะถึงนี้ เธอจะต้องเดินทางไปขึ้นศาลอีกครั้งหนึ่ง จนถึงวันนี้ สถานะของคุณ ดา คือ ผู้ต้องขังที่ถูกกล่าวหา มิใช่นักโทษ เพราะคดีความยังไม่ถึงที่สุด

พวกเราก็ได้แต่หวังในฐานะเพื่อนมนุษย์คนหนึ่ง ว่าเธอจะมีอิสรภาพในเร็ววันนี้

เรากล่าวอำลาเธอ เธอกล่าวขอบคุณพวกเราที่มาเยี่ยม

เธอบอกพวกเราว่า เธอจะยินดีเป็นอย่างมากหากจะมีใครเขียนจดหมายไปให้กำลังใจเธอ

ก่อ นกลับ พวกเราที่มาในวันนี้ ได้รวบรวมเงินบริจาคส่วนตัวคนละเล็กละน้อยจำนวนหนึ่งใว้ให้ คุณ ดา รวมทั้งอีกส่วนหนึ่งให้กับ คุณ บุญยืน ประเสริฐยิ่ง ผู้ต้องขังคดีหมิ่นๆ อีกคนหนึ่ง สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัว

หากผู้ใดมีความประสงค์ที่จะเขียนจดหมายไปถึงคุณดา ก็น่าจะเป็นกำลังใจแก่เธอได้มากทีเดียว โดยเขียนไปตามที่อยู่ข้างล่างนี้
ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล
ทัณฑสถานหญิงกลาง เรือนจำกลางคลองเปรม
ถนนงามวงศ์วาน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร
กรุงเทพมหานคร

ระบุมุมซองว่า ห้อง 1/3 อาคารเพชร
(เนื้อหาในจดหมายไม่ควรมีเรื่องการเมือง )

วันพฤหัสบดีที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

'ดา' ขอบริจาคหนังสือเข้าห้องสมุดแรกรับทัณฑสถานฯ

วันนี้ (29 ก.ค. 52) เวบไซต์ประชาไทรายงานว่า ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล ได้กล่าวผ่านมาทางทนายความเพื่อขอรับบริจาคหนังสือเข้าห้องสมุดทัณฑสถานหญิงกรุงเทพฯ (เรือนจำคลองเปรม) เนื่องจากวารสารที่มีอยู่ในห้องสมุดของส่วนแรกรับทัณฑสถานหญิง ซึ่งเป็นคนละส่วนกับห้องสมุดสำหรับนักโทษที่ถูกตัดสินคดีเด็ดขาดแล้วนั้น มีหนังสืออยู่น้อยและส่วนใหญ่เป็นหนังสือเก่า โดยเฉพาะวารสารที่ส่วนใหญ่ตีพิมพ์ตั้งแต่ พ.ศ. 2548

ทั้งนี้ ดารณีระบุว่า หนังสือที่บริจาคให้แก่ห้องสมุดดังกล่าวได้นั้นจะต้องไม่มีเนื้อหาทางการเมือง ผู้สนใจสามารถบริจาคหนังสืออื่นๆ เช่น นิยาย หนังสือธรรมะ ประวัติศาสตร์ ส่วนวารสารที่ห้องสมุดนี้อนุญาตให้ผู้ต้องขังอ่าน ได้แก่ แพรว สกุลไทย สุดสัปดาห์ คู่สร้างคู่สม อสท. ค.ฅน ชีวจิต และสารคดี

โดยผู้ที่สนใจสามารถนำหนังสือไปบริจาคได้ที่ ผู้ปกครองส่วนแรกรับทัณฑสถานหญิงกลาง เรือนจำคลองเปรม โดยบริจาคให้กับผู้ต้องขังหญิง "ในส่วนแรกรับ" ซึ่งผู้ต้องขังเหล่านี้จะสามารถใช้บริการห้องสมุดดังกล่าวได้วันละ 2 ชั่วโมง

วันพุธที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

คดี 'สองไม่ยืน' เลื่อนอีก

วันนี้ (29 ก.ค. 52) โชติศักดิ์ อ่อนสูง หนึ่งในผู้ต้องหาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งมีเหตุมาจากการไม่ยืนถวายความเคารพขณะที่มีการบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีในโรงภาพยนตร์ ได้แจ้งมายัง LM watch ว่า ตามที่เจ้าพนักงานอัยการนัดได้ตนและเพื่อนไปฟังคำสั่งเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคมที่ผ่านมานั้น ปรากฏว่าทางอัยการได้ให้เลื่อนการนัดฟังคำสั่งฟ้อง-ไม่ฟ้องในคดีของตนออกไปอีกครั้ง โดยเลื่อนไปเป็นอีก 2 เดือนข้างหน้า คือวันที่ 29 ก.ย. 52 โดยแจ้งเหตุผลแต่ตนเพียงสั้นๆ ว่ายังสอบไม่เสร็จ

นัดเยี่ยม 'ดา' พรุ่งนี้ (30 ก.ค.)

รายงานในเวบไซต์ Thai E-News และกระทู้ใน www.pantip.com ระบุว่า กลุ่มสมัชชาสังคมก้าวหน้า (social move) ได้ส่งอีเมลลงวันที่ 24 ก.ค. 52 นัดหมายและเชิญชวนประชาชนให้ร่วมกันเดินทางไปเยี่ยมให้กำลังใจดารณี ชาญเชิงศิลปกุล หรือ 'ดา ตอร์ปิโด' ผู้ต้องหาในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ บริเวณหน้าทัณฑสถานหญิงกลาง เรือนจำคลองเปรม กรุงเทพฯ ในวันที่ 30 ก.ค. 52 ระหว่างเวลา 9.30 – 11.30 น.

โดยอีเมลดังกล่าวระบุว่า เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2552 ที่ผ่านมา เป็นวันครบรอบ 1 ปีเต็ม หลังจากที่ดารณี "ถูกจับกุมและคุมขังอย่างไม่ได้รับความเป็นธรรมตามสิทธิทางกฎหมาย" ทางกลุ่มจึงขอเรียกร้องให้ "พี่น้องเสรีชนผู้รักความเป็นธรรม" ไปเยี่ยมให้กำลังใจในวาระดังกล่าว และขอให้ผู้ที่จะไปร่วมนำดอกไม้และป้ายผ้าข้อความให้กำลังใจไปด้วย

นอกจากนี้ เวบไซต์ Thai E-News ยังได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่า ประชาชนที่จะเดินทางไปสามารถนำของฝาก เช่น อาหารแห้ง ของใช้ ดอกไม้ ฯลฯ ไปด้วยได้ รวมทั้งสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกรณีนี้ได้ที่ "คุณอ้นวิทยุแท็กซี่" E-mail: ontontnong@hotmail.com

..........

(เนื้อหาในอีเมลของกลุ่มสมัชชาสังคมก้าวหน้า )


“โค่นล้มอำมาตยาธิปไตย จุดไฟสรรค์สร้างสังคมใหม่
พัฒนาประชาธิปไตยให้สมบูรณ์”

เราไม่ทอดทิ้งกัน
-- ทางเดินของชีวิต --

ทางเดินสำหรับชีวิตมีอยู่เพียงสองทางเท่านั้น
นั่นคือต่อสู้เพื่อสัจจธรรมด้วยความกล้าหาญ
หรือยอมแพ้และตายอย่างทาส
เกียรติยศอันรุ่งโรจน์มีไว้สำหรับผู้ต่อสู้เพื่ออิสรภาพ
และแก่ทาสนั้นหรือ สิ่งที่เขาพึงได้รับก็คือ หลุมศพของคนขลาด!

*กวีโดย มูสา จาลิล แปลโดยจิตร ภูมิศักดิ์อ้างใน "ถึงร้อยดาวพราวพรายกระจายแสง", สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน, หน้า 233-4

นับ เป็นเวลา 1 ปีเต็มที่คุณดารณี ชาญเชิงศิลปกุล หรือดา ตอร์ปิโด ได้ถูกจับกุมในคดีหมิ่นพระบรมราชานุภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

ช่วงเวลาที่ผ่านมาแม้จะมีการขอยื่นประกันตัวเธอหลายต่อหลายครั้ง แต่ศาลก็พิจารณายกคำร้องโดยตลอด ทั้งๆที่ ผู้ต้องหาอื่นในคดีเดียวกลับสามารถขอประกันตัวเพื่อต่อสู้คดีได้

ขณะที่คุณดาต้องยืนหยัดต่อสู้เพียงลำพังในเรือนจำ เราได้ยินข่าวสารของเธออยู่บ้างจากผู้ที่ไปเยี่ยมเยียนเธอเป็นระยะ เราได้ติดตามอ่านข่าวของคุณดาด้วยความรู้สึกนับถือในหัวใจและจิตวิญญาณแห่ง ความเป็นเสรีชนของเธอ ไม่ง่ายเลยที่ใครสักคนต้องถูกจำคุกอยู่ในเรือนจำ จะยังสามารถรักษาความเข้มแข็งและจิตวิญญาณแห่งการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเอา ไว้ได้ ภายใต้แรงกดดันจากสภาพแวดล้อมเหมือนที่เธอกำลังเผชิญ

ในวันนัดสืบพยานโจทย์คดีของเธอครั้งแรก ในวันที่ 23 มิ.ย. 2552 ศาลได้มีคำสั่งให้พิจารณาคดีดังกล่าวเป็น "การลับ" โดยคำสั่งดังกล่าวได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 177 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งได้สร้างข้อกังขาต่อสาธารณะชนทั่วไปถึงกระบวนการยุติธรรมของไทยในการ พิจารณาคดีนี้ ดังที่องค์การนิรโทษกรรมสากล (Amnesty International) ได้ส่งแถลงการณ์ถึงผู้สื่อข่าวต่อมาในวันที่ 26 มิ.ย. 2552 ความตอนหนึ่งในแถลงการณ์ระบุว่า "ภายใต้หลักกฎหมายสากล การพิจารณาคดีที่เปิดเผยต่อสาธารณะเป็นหลักสำคัญในการปกป้องสิทธิของปัจเจก บุคคลจากการพิจารณาคดีและกระบวนการเกี่ยวกับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม... เมื่อศาลปิดประตูห้องพิจารณา นั่นคือสัญญาณเสี่ยงต่อความอยุติธรรม"

แม้สัญญาณจากศาลที่จะดำเนินการพิจารณาคดีแบบปิดลับ ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงว่าคุณดาจะไม่ได้รับความเป็นธรรมเพียงพอในฐานะ พลเมืองไทยคนหนึ่ง แต่ดูเหมือนเจตจำนงในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของคุณดา หาได้หวาดหวั่นต่ออำนาจอยุติธรรมเลย เธอยังคงยืนยันศักดิ์ศรีของความเป็นคนอย่างเต็มเปี่ยม ดังคำแถลงที่คุณดาเขียนขึ้นในวันที่ 24 มิ.ย. 2552 คุณดาได้เผยแพร่คำแถลงถึง "สื่อมวลชนและพี่น้องผู้รักความเป็นธรรม" ต่อกรณีการพิจารณาคดีแบบปิดลับของศาล โดยบางส่วนของคำแถลงคุณดาได้เขียนว่า "ข้าพเจ้าขอประณามว่าการพิจารณาคดีโดยลับนั้นเป็นการทำลายหลักการยุติธรรม ของกฎหมายโดยสิ้นเชิง วันนี้เมื่อ 77 ปีก่อน มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชมาสู่ระบอบประชาธิปไตย ผู้เปลี่ยนแปลงการปกครองยืนยันในหลักการที่จะให้ราษฎรได้รับความยุติธรรมมาก ขึ้นกว่าจากเดิมที่เคยถูกกดขี่จากผู้ปกครองโดยตามอำเภอใจ แม้ว่าข้าพเจ้าจะไม่เคยมีชีวิตอยู่ในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว แต่ข้าพเจ้าขอสรรเสริญเจตนารมณ์อันยิ่งใหญ่ดังกล่าว แม้ว่าในวันนี้ข้าพเจ้าจะไม่ได้รับความเป็นธรรมแต่ก็เชื่อมั่นว่าเจตนารมณ์ ของคณะราษฎรผู้เปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 จะต้องได้รับชัยชนะในที่สุด”

วันนี้ 22 กรกฎาคม 2552 ครบรอบ 1 ปีเต็มที่คุณดา ถูกจับกุมและคุมขังอย่างไม่ได้รับความเป็นธรรมตามสิทธิทางกฎหมาย เราจึงขอเชิญพี่น้องเสรีชนผู้รักความเป็นธรรมทั้งหลาย ไปร่วมให้กำลังใจแก่คุณดารณี ชาญเชิงศิลปกุล หรือดา ตอร์ปิโด นักสู้ประชาธิปไตยผู้ทรนงของพวกเรา ที่หน้าเรือนจำคลองเปรม ในวันที่ 30 กรกฎาคม 2552 เวลา 9.30-11.30 น.

ทั้งนี้ขอให้ผู้ร่วมไปให้กำลังใจ คุณ นำดอกไม้และป้ายผ้าให้กำลังใจคุณดามาพร้อมเพรียงกัน เราจะส่งแรงกำลังใจไปสู่คุณดาในยังอีกฟากของกำแพงซี่กรงขังของเรือนจำว่า "เราจะไม่ทอดทิ้งกัน"

เสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์จงเจริญ!

สมัชชาสังคมก้าวหน้า (social move)
24 กรกฎาคม 2552

วันอังคารที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

2 นักวิชาการเสนอตั้งชื่อลูกช้าง "สุวิชา ท่าค้อ"

กรณีช้างไทยวัย 12 ปี ได้ให้กำเนิดลูกน้อยเพศผู้ ที่สวนสัตว์ "ทารองก้า" ประเทศออสเตรเลีย ล่าสุด เมื่อ 19 กรกฎาคม 2552 เวบไซต์ Liberal Thai โดย "chapter 11" ได้นำเสนอรายงานและบทสัมภาษณ์ "การถกเถียงเกี่ยวกับราชวงศ์ ต่อการตั้งชื่อลูกช้าง" ซึ่งแปลและเรียบเรียงจาก " Royal debate over baby elephant's name" ในเวบไซต์ Radio Australia เกี่ยวกับกรณีที่นักวิชาการชาวออสเตรเลียสองคนได้เสนอให้ตั้งชื่อลูกช้างว่า "สุวิชา ท่าค้อ" ตามชื่อ "นักโทษการเมือง" ในประเทศไทย

โดย ในรายงานเดียวกัน มีบทสัมภาษณ์ดร.แอนดรูว์ วอคเกอร์ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (the Australian National University) หนึ่งในสองผู้เสนอให้ตั้งชื่อดังกล่าวเกี่ยวกับกรณีนี้ด้วย

..........


การถกเถียงเกี่ยวกับราชวงศ์ ต่อการตั้งชื่อลูกช้าง

วันอาทิตย์ 19 กรกฎาคม 2009 — chapter 11
Royal debate over baby elephant’s name

July 17, 2009
ที่มา – ABC radio australia
แปลและเรียบเรียง – chapter 11

นักวิชาการชาวออสเตรเลียสองคน ต้องการตั้งชื่อลูกช้างตามชื่อนักโทษการเมืองในประเทศไทย เพื่อเรียกร้องความสนใจต่อคดีดังกล่าว

ลูก ช้างซึ่งเกิดที่สวนสัตว์ทารองก้าในเมืองซิดนีย์ เป็นเชือกแรกที่เกิดในออสเตรเลีย แน่นอนจะต้องเป็นที่ดึงดูดให้ผู้คนหลั่งไหลเข้าไปชม แต่ควรตั้งชื่อตาม สุวิชา ท่าค้อ ซึ่งถูกจำคุกเนื่องจากหมิ่นกษัตริย์แห่งประเทศไทยหรือ

ผู้ดำเนินรายการ: เซน แลม
ผู้ถูกสัมภาษณ์: ดร.แอนดรูว์ วอคเกอร์ จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (the Australian National University)

คลิกฟังเสียงสัมภาษณ์ภาษาอังกฤษได้จากที่นี่

ดร.แอนดรูว์ วอคเกอร์: สุวิชา ท่อค้อเป็นนักโทษการเมืองในประเทศไทย เขาถูกตัดสินจำคุก ๑๐ ปีในข้อหานำภาพเสียดสีกษัตริย์ภูมิพลลงในอินเตอร์เน็ต เป็นข้อกล่าวหาที่โหดร้ายและทารุณ และเราคิดว่า การตั้งชื่อลูกช้างตามชื่อของเขาจะเป็นวิธีการที่ดี ที่จะเน้นให้เห็นถึงความเป็นห่วงเป็นใยของชาวออสเตรเลียในโชคชะตาของเขา

เซน แลม: สวนสัตว์ทารองก้าคิดอย่างไรกับการที่คุณทำให้เรื่องการตั้งชื่อลูกช้างมาเป็นเรื่องท
างการเมือง

ดร.แอนดรูว์ วอคเกอร์: เรายังไม่ได้รับคำตอบใดๆจากทางสวนสัตว์ แต่ผมคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ควรจำไว้ว่า สำหรับเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะประเทศไทย ที่เป็นเวลานานมาแล้ว ได้ถือว่าช้างเป็นสัญญลักษณ์ของอำนาจและการเมือง และเราพยายามที่จะหยิบเอาสัญญลักษณ์นี้ขี้นมา และทำให้เป็นประเด็นสำคัญอย่างสุภาพ เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน

เซน แลม: และแน่ล่ะ ลูกช้างก็อยู่ในคุกเช่นเดียวกับนักโทษการเมือง

ดร.แอนดรูว์ วอคเกอร์: ถูกต้องแล้ว และเรากำลังพยายามที่จะเน้นความจริงที่ว่า ลูกช้างที่อยู่ในคุกและได้รับการดูแลอย่างดีจากสวนสัตว์ทารองก้า ย่อมจะมีชีวิตที่สุขสบายมากกว่าชีวิตของสุวิชา ท่าค้อที่ติดคุกในไทย

เซน แลม: การมีกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในประเทศไทย เพราะคนไทยรักกษัตริย์ของเขาใช่ไหม ซึ่งสำหรับหลายๆคนอาจจะมองว่าสุวิชา ท่าค้อกระทำผิดกฎหมาย และสร้างความไม่พอใจให้กับคนบางคนหรือเปล่า

ดร.แอนดรูว์ วอคเกอร์: การมีกฎหมายหมิ่นฯเพื่อป้องกันไม่ให้มีการถกเถียงในทางการเมือง ในบางหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับราชวงศ์ ไม่ว่าเราจะคิดอะไรก็ตามที่ว่า สุวิชาไม่เคารพหรือหยาบคาย นั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่การจับเอาคนคนหนึ่งเข้าคุกถึงสิบปีในข้อหาที่ ไม่ให้ความเคารพและอาจจะไม่สุภาพ นับว่าเป็นข้อหาที่ทารุณและรุนแรงเกินไป

เซน แลม: คุณได้รับการสนับสนุนจากสังคมไทยขนาดไหน คุณได้สืบดูบ้างหรือเปล่า

ดร.แอนดรูว์ วอคเกอร์: เราได้รับเสียงสะท้อนกลับมาในด้านบวกจากบล็อกซึ่งเรามีอยู่ และได้มีบล็อกจากนานาชาติได้ช่วยกันเผยแพร่ มีการรณรงค์ให้มีการปรับปรุงกฎหมายหมิ่นฯที่โหดร้ายนี้ในประเทศไทย และเราพยายามที่จะเสนอขอความสนับสนุนจากนานาชาติ ให้กับผู้ที่กำลังรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน ที่ต้องเสี่ยงภัยด้วยตัวเองเป็นอย่างมาก

เซน แลม: คุณได้อธิบายก่อนหน้านี้ว่า การมีกฎหมายหมิ่นฯเพื่อหยุดยั้งไม่ให้ประชาชนทำการวิจารณ์ราชวงศ์ และในไม่กี่ปีมานี้ กฎหมายเดียวกันนี้ได้ถูกปัดฝุ่นขี้นมาใช้ในทางการเมืองใหม่ใช่ไหม

ดร.แอนดรูว์ วอคเกอร์: ถูกแล้วครับ จริงๆแล้วกฎหมายไม่ได้มีไว้เพื่อห้ามการวิจารณ์ราชวงศ์ แต่มีไว้เพื่อห้ามประชาชนวิจารณ์บทบาทของราชวงศ์ในทางการเมือง เราเห็นราชวงศ์เข้ามามีบทบาททางการเมืองได้จากความขัดแย้งเมื่อไม่นานมานี้ ที่ประเทศไทย และราชวงศ์ได้มีบทบาทโดยที่ให้การสนับสนุนกองทัพ ทำการโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในปี ๒๕๔๙ พวกเขาไม่ต้องการให้ประชาชนวิจารณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ และนั่นเป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมกฎหมายหมิ่นฯจึงถูกนำขึ้นมาใช้

ที่มา: เวบไซต์ Liberal Thai

English version