วันอังคารที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

กรณีบัณฑิต อานียา (จือเซ็ง แซ่โค้ว)

กรณีบัณฑิต อานียา (จือเซ็ง แซ่โค้ว)

กรณีบัณฑิต อานียา (จือเซ็ง แซ่โค้ว)

วันที่ 22 กันยายน 2546
สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งและสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้จัดให้มีการสัมมนาทางวิชาการเรื่อง "กฎหมายพรรคการเมือง: โอกาสและข้อจำกัดในการส่งเสริมและพัฒนาพรรคการเมือง" ซึ่งมี พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ เป็นวิทยากร และมีผู้เข้าร่วมการสัมมนาประมาณ 500 คน รวมถึงบัณฑิต อานียา หรือชื่อจริงว่า สมอล์ล บัณทิต อานียา (จือเซ็ง แซ่โค้ว) นักเขียน นักแปล วัย 63 ปี (อายุขณะนั้น)

ทั้งนี้ สมอล์ล บัณทิต อานียาได้นำเอกสารที่เขียนและจัดทำสำเนาขึ้นเองจำนวน 2 เรื่อง ได้แก่ 1. "สรรนิพนธ์เพื่อชาติ (ฉบับตัวอย่าง)" 2. "วรสุนทรพจน์ (ฉบับร่าง) เนื่องในพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร" ไปจำหน่ายให้แก่ประชาชนที่เข้าร่วมสัมมนา

ต่อมา พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ ได้เข้าแจ้งความว่าสมอล์ล บัณฑิต อานียา มีพฤติกรรมหมิ่นพระบรมเดชานุภาพด้วยการกล่าวถ้อยคำในการสัมมนาและการโฆษณาผ่านเอกสาร โดยพล.ต.อ.วาสนาได้นำแถบบันทึกเสียงที่มีถ้อยคำของสมอล์ล บัณฑิต อานียา ในงานสัมมนาดังกล่าว พร้อมเอกสารทั้ง 2 เรื่องข้างต้น มอบให้กับพนักงานสอบสวน เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการดำเนินคดี

24 พฤศจิกายน 2547
เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมตัวสมอล์ล บัณฑิต อานียา และดำเนินการส่งฟ้องในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในเวลาต่อมา

ทั้งนี้ สมอล์ล บัณฑิต อานียา ได้ปฏิเสธข้อกล่าวหา แต่รับว่ากล่าวถ้อยคำในการสัมมนาและทำสำเนาเอกสารดังกล่าวจำหน่ายจริง

(ไม่ทราบวันที่)
ศาลชั้นต้นได้พิพากษาให้จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ประกอบด้วยมาตรา 65 วรรค 2
"...การกระทำของจำเลย เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ให้จำคุกกระทงละ 2 ปี รวม 2 กระทง จำคุก 4 ปี เห็นว่าจำเลยอายุ 64 ปี ป่วยด้วยโรคจิตเภทและไม่ปรากฏว่าเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อนเห็นควรให้โอกาสจำเลยบำบัดรักษาเพื่อจะได้หายเป็นปกติและเป็นพลเมืองดีต่อไป โทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้ มีกำหนด 3 ปี ให้คุมประพฤติจำเลยไว้ โดยให้จำเลยรายงานตัวกับพนักงานคุมประพฤติและไปบำบัดรักษาอาการป่วยทางจิตที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ โดยให้รายงานผลการรักษาต่อพนักงานคุมประพฤติ 3 เดือน ต่อครั้ง ภายในระยะเวลาเวลา 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ริบของกลาง..."


ต่อมา โจทก์ คือพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด ได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้น โดยขอไม่ให้รอการลงโทษ

17 ธันวาคม 2550
ศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษาว่า

"...ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า ขณะกระทำความผิดจำเลยยังสามารถรู้ผิดชอบและบังคับตนเองได้หรือไม่ ศาลอุทธรณ์พิเคราะห์ข้อความในข้อเขียน...และถ้อยคำพูดตามเอกสารถอดเทปคำพูด...ของจำเลยทั้งหมดแล้วปรากฏอย่างชัดเจนว่า ข้อความทุกข้อและทุกตอนดังกล่าว เป็นข้อความที่คนทั่วไปอ่านหรือรับฟังแล้ว สามารถเข้าใจได้ทั้งหมด ไม่ปรากฏให้เห็นว่า อ่านแล้วไม่เข้าใจข้อความใด หรือเป็นการเขียนแบบสติเลอะเลือน...นอกจากนี้ข้อความเกือบทุกข้อและทุกตอนดังกล่าว เป็นข้อความที่สอดคล้องกันเป็นเอกภาพ และมีวัตถุประสงค์อย่างเดียวกันโดยชัดแจ้ง คือ ไม่เห็นด้วยกับกฎหมายที่ให้พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจอยู่เหนือสถาบันต่างๆ รวมทั้งกล่าวหมิ่นประมาทและดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท ในลักษณะเสียดสีว่า... ดังนั้น จึงเชื่อได้แน่ชัดว่า ขณะที่จำเลยเขียนหรือกล่าวข้อความดังกล่าว จำเลยยังสามารถรู้ผิดชอบและสามารถบังคับตนเองได้ทั้งหมด...ไม่สมควรรอการลงโทษให้จำเลย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น…"

"...พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ปรับบทลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65 วรรค 2 จำเลยให้การปฏิเสธแต่รับว่าได้เขียนและกล่าวข้อความตามฟ้องจริง เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ เห็นสมควรลดโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 ให้หนึ่งในสาม คงจำคุก 2 ปี 8 เดือน ไม่รอการลงโทษและไม่ควบคุมความประพฤติจำเลย นอกจากที่แก้ให้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น"


ปัจจุบัน
คดีนี้อยู่ในชั้นศาลฎีกา โดยจำเลยคือสมอล์ล บัณฑิต อานียา อยู่ในระหว่างประกันตัว


หมายเหตุ:
หลังจากที่ LM watch ได้เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับกรณีนี้ บุคคลใกล้ชิดของคุณบัณฑิต อานียา ได้กรุณาติดต่อเข้ามาและให้ข้อมูลเพิ่มเติม LM watch จึงได้แก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหาดังที่ปรากฏอยู่นี้

ซึ่งทาง LM watch ขอขอบคุณเป็นอย่างสูง

.......... .......... .......... .......... .......... .......... .......... .......... .......... ..........

ข้อมูลส่วนตัว
บัณฑิต อานียา มีชื่อจริงว่า สมอล์ล บัณฑิต อานียา (จือเซ็ง แซ่โค้ว) เป็นนักเขียนและนักแปล ซึ่งมีผลงานกว่า 50 เล่ม โดยข้อมูลในเวบไซต์เมืองหนังสือระบุว่า ผลงานของบัณฑิตจำนวนหนึ่ง ได้ถูกจัดเป็นหนังสือ "ต้องห้าม"

ในตอนหนึ่งของบทความชุด "โชคดีที่เกิดมาจน" เขียนโดย "ขุนคลังข้างถนน" ซึ่งเผยแพร่ในเวบไซต์เมืองหนังสือ ได้ระบุว่า ในเดือนธันวาคม 2551 บัณฑิตซึ่งขณะนั้นมีอายุ 71 ปี และอยู่ในระหว่างประกันตัวเพื่อรอคำตัดสินของศาลฎีกา ได้ถูกส่งตัวเข้าโรงพยาบาลศิริราช ด้วยอาการกำเริบของมะเร็ง
"...หมอนัดจะให้เขาผ่าตัด แต่เขาขอหมอกลับบ้าน หมอก็ยอม แต่ปลายเดือนธันวาคม ก็ขอกลับเข้ารักษาใหม่ โดยยินยอมที่จะให้หมอตัดไต ออกข้างหนึ่ง ก่อนเข้าห้องผ่าตัดสองวันเขาขอกินข้าวมันไก่ และขอดูหนังสือ 50 เล่มที่เขาเขียนเป็นครั้งสุดท้าย…"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น