วันพฤหัสบดีที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2552

กรณีบุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์

กรณีบุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์

ข้อมูลด้านคดีและการเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้อง:
กรณีนี้เริ่มต้นขึ้นเมื่อผศ.วินัย ผู้นำพล อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้เข้าแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า ผศ.บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์ อาจารย์คณะเดียวกัน ได้ออกข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย โดยมีเนื้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และเป็น “ภัยคุกคามสังคมไทย” ต่อมาคณบดีได้ส่งข้อสอบดังกล่าวให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยไม่ได้ขออนุญาตหรือแจ้งให้ผศ.บุญส่งซึ่งเป็นอาจารย์เจ้าของวิชาทราบ

ผศ.บุญส่งได้ทราบเรื่องนี้ในเวลาต่อมา เมื่อรักษาการคณบดีมีบันทึกข้อความมาแจ้งให้ส่งมอบกระดาษคำตอบและคะแนนของนักศึกษาที่เข้าสอบในรายวิชาอารยธรรมไทยห้แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยระบุว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองนครปฐม จ.นครปฐมได้มีบันทึกมาขอข้อมูลดังกล่าวจากทางคณะ ผศ.บุญส่งได้ปฏิเสธไม่ยอมให้เพราะเห็นว่าเป็นการละเมิดสิทธิของนักศึกษา ทั้งนี้ ได้ขอดูบันทึกของเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่คณบดีปฏิเสธ

หลังจากทราบเรื่อง ผศ.บุญส่งได้ออกมาเปิดเผยเรื่องราวทั้งหมดต่อสาธารณะ รวมทั้งข้อมูลที่ได้จากนักศึกษาว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เคยเข้ามาสอบสวนเด็กนักศึกษาจำนวนหนึ่งที่คณะ โดยรองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาเป็นผู้ประสาน ในการสอบสวนดังกล่าว เจ้าหน้าที่ได้นำข้อความที่ตัดมาจากคำบรรยายของตนมาให้นักศึกษาดู แล้วถามความเห็นนักศึกษาว่า เป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพหรือไม่ ซึ่งหลังจากพบว่านักศึกษาทุกคนตอบว่าไม่ ทางเจ้าหน้าที่ได้มีท่าทีไม่พอใจ และให้พานักศึกษาคนใหม่มาเพิ่ม แต่นักศึกษาที่มาใหม่ก็ตอบว่าไม่เช่นกัน

ผศ.บุญส่งเปิดเผยอีกว่า คณบดีซึ่งเป็นผู้ส่งข้อสอบให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้บอกกับตนว่า เจ้าหน้าที่เคยนำข้อความที่ตัดมาจากคำบรรยายของตนมาถามคณบดีเช่นกันว่า ในฐานะนักวิชาการคิดว่าเข้าข่ายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพหรือไม่ และขอให้คณบดีแนะนำนักวิชาการที่ควรจะไปถามความเห็น ซึ่งคณบดีได้แนะนำดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยนิด้า ส่วนนักวิชาการคนอื่นๆ ที่ตนทราบว่าเจ้าหน้าที่ได้ไปขอความเห็นคือ ดร.ไชยันต์ ชัยพร


ภายหลังการออกมาเปิดเผยดังกล่าวของผศ.บุญส่ง สื่อมวลชนจำนวนมากได้ให้ความสนใจนำเสนอกรณีนี้ โดยเฉพาะสื่อต่างประเทศ ผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าวของฝรั่งเศสได้เดินทางมาสัมภาษณ์ผศ.บุญส่ง ขณะที่สำนักข่าวรอยเตอร์ก็ได้ส่งทีมงานมาสัมภาษณ์และถ่ายทำวีดีโอการสอนในห้องเรียน กรณีนี้ยังได้รับความสนใจจากสถานทูตอเมริกาประจำประเทศไทย ซึ่งได้ติดต่อขอข้อมูลและแสดงความห่วงใย โดยแจ้งว่าจะทำเป็นรายงานต่อรัฐสภาและประธานาธิบดี ซึ่งต่อมาได้ปรากฏรายงานในเว็บไซต์ของรัฐบาลอเมริกา

สำหรับการเคลื่อนไหวในประเทศไทย รศ.สมเกียรติ ตั้งนะโม ได้เปิดรณรงค์ให้มีการลงชื่อให้กำลังใจผศ.บุญส่งผ่านเวบไซต์ Petition online ส่วนสื่อมวลชนไทยที่นำเสนอข่าวนี้ได้แก่ ประชาไทและ the Nation


ปัจจุบัน คดีที่ผศ.บุญส่งถูกแจ้งความกล่าวหานั้น ได้ถูกระงับไปแล้ว หลังจากที่ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐานและพิจารณาเรื่องดังกล่าว


รายละเอียด:

18 กรกฎาคม 2550
ผศ.บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์ อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้มีจดหมายเปิดผนึก "ขอความช่วยเหลือด่วน" โดยระบุว่า เสรีภาพในการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยได้ถูกคุกคาม เนื่องจากตนได้รับบันทึกข้อความจากทางคณะอักษรศาสตร์ แจ้งให้ส่งเอกสารกระดาษคำตอบของนักศึกษาพร้อมด้วยคะแนน ของรายวิชาอารยธรรมไทยที่ตนเป็นผู้สอนและออกข้อสอบ แก่ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองนครปฐม จ.นครปฐม เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

โดยในจดหมายดังกล่าว ได้เปิดเผยข้อความตอนหนึ่งจากบันทึกข้อความ ที่ศธ 0520. 202/ ลงวันที่ 16 ก.ค. 2550 เรื่อง ขอเอกสารกระดาษคำตอบและคะแนนรายวิชาอารยธรรมไทย ซึ่งผศ.ดร.มณีปิ่น พรหมสุทธิรักษ์ รักษาราชการแทนคณบดีคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นผู้ลงนาม ดังนี้

"...ด้วย พนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม ได้ขอให้คณะอักษรศาสตร์ส่งเอกสารกระดาษคำตอบรายวิชาอารยธรรมไทยพร้อมคะแนน ที่ให้แก่นักศึกษาในการตอบคำถามแต่ละข้อ ตั้งแต่ปีการศึกษา 2548 ถึง ปัจจุบัน เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ คณะฯ จึงขอเรียนมาเพื่อโปรดทราบ และขอให้ท่านส่งเอกสารดังกล่าวให้คณะฯ ภายในวันที่ 20 กรกฎาคม 2550 เพื่อจะได้ส่งมอบให้พนักงานสอบสวนต่อไป..."

ตอนท้ายจดหมายเปิดผนึก ผศ.บุญส่งได้เปิดเผยข้อสอบในรายวิชาดังกล่าว ซึ่งทราบมาว่าทางคณะได้นำส่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจไปก่อนหน้าแล้ว หลังจากที่อาจารย์คนหนึ่งได้แจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ดำเนินคดีกับผศ.บุญส่งในข้อหา "หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ"

ทั้งนี้ จดหมายเปิดผนึกดังกล่าว ได้ถูกส่งต่อไปอย่างกว้างขวาง และถูกเผยแพร่ในหลายเวบไซต์ รวมทั้งกระดานข่าว (web board) ต่างๆ โดยมีผู้เข้ามาแสดงความเห็นเป็นจำนวนมาก


19-20 กรกฎาคม 2550
กรณีดังกล่าวได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนอย่างมาก โดยเฉพาะสื่อต่างประเทศ ข่าวถูกเผยแพร่ออกไปอย่างกว้างขวาง ส่วนในประเทศไทยสื่อที่นำเสนอข่าวนี้ได้แก่ ประชาไท the Nation และเวบไซต์อิสระต่างๆ ขณะที่การวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้ในหน้าอินเตอร์เนตดำเนินไปอย่างคึกคัก

โดยหลังจากที่ได้เผยแพร่จดหมายเปิดผนึกแล้ว ผศ.บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์ ได้ออกมาให้สัมภาษณ์เปิดเผยว่า ตนได้แจ้งต่อคณะบดีไปแล้วว่า ขอปฏิเสธการมอบกระดาษคำตอบและคะแนนของนักศึกษาให้แก่เจ้าหน้าตำรวจ เนื่องจากเห็นว่าเป็นการละเมิดสิทธิของนักศึกษา เพราะนักศึกษาทุกคนเขียนตอบข้อสอบด้วยความเข้าใจว่ามีผู้อ่านเพียงคนเดียว คืออาจารย์ผู้สอน ซึ่งหากรักษาการคณบดีฯจะใช้อำนาจในฐานะผู้บริหารส่งกระดาษคำตอบของนักศึกษาให้แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจ รักษาการคณบดีฯก็ต้องรับผิดชอบเอง

ผศ.บุญส่งเปิดเผยเพิ่มเติมว่า หลังจากที่ตนได้แจ้งปฏิเสธดังกล่าว รักษาการคณบดีฯได้บอกกับตนว่า หากปฏิเสธ ก็ให้ทำบันทึกตอบเจ้าหน้าที่ตำรวจพร้อมกับแจ้งเหตุผล แต่เมื่อตนขอดูบันทึกที่เจ้าหน้าที่ตำรวจส่งมา รักษาการคณบดีฯก็บอกว่าจะนำมาแสดงในภายหลัง


ในส่วนที่เกี่ยวกับคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ผศ.บุญส่งระบุว่า ตนเพิ่งทราบหลังจากได้รับบันทึกข้อความจากทางคณะนี่เองว่า ก่อนหน้านี้ ผศ.วินัย ผู้นําพล อาจารย์คณะเดียวกัน ได้เข้าแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า ตนได้ออกข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย โดยมีเนื้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยหลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจได้แจ้งขอข้อสอบดังกล่าวมายังคณะ และรักษาการคณบดีก็ได้ส่งให้ไป โดยไม่ได้แจ้งให้ตนซึ่งเป็นอาจารย์เจ้าของวิชาทราบ ซึ่งตนรู้สึกประหลาดใจมาก เพราะตามปกติแล้ว เพราะการขอดูข้อสอบจะต้องขออย่างเป็นทางการ โดยทำบันทึกข้อความถึงคณบดีและขออนุญาตเจ้าของวิชาก่อน รวมทั้งจะต้องแจ้งเหตุผลว่าจะนำไปใช้เพื่ออะไร เพราะถือเป็นลิขสิทธิ์ ผู้ออกข้อสอบเองมีสิทธิจะอนุญาตหรือไม่ให้ก็ได้ ซึ่งที่ผ่านมา เคยมีกรณีนักศึกษาขอดูข้อสอบและการให้คะแนน เนื่องจากไม่มั่นใจการให้คะแนนของผู้สอน ก็ต้องมีการประชุมกันเพื่อพิจารณา และเมื่อพิจารณาอนุญาตแล้ว ก็ให้เพียงดูได้แต่เพียงในห้องเท่านั้น ห้ามนำออกไปภายนอก

นอกจากนี้ ผศ.บุญส่งยังได้เปิดเผยข้อมูลที่ได้ทราบจากนักศึกษาว่า ก่อนหน้านี้อาจารย์สองท่านได้ให้นักศึกษานำสมุดจดวิชาอารยธรรมไทย ซึ่งตนเป็นผู้สอน ไปให้ดูที่ห้องทำงาน โดยนักศึกษาก็ได้นำไปให้เพราะเข้าใจว่าอาจารย์ต้องการนำไปปรับปรุงหลักสูตรการสอน แต่กลับมีการนำเอาสมุดจดดังกล่าวไปส่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ต่อมา เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้ามาสอบสวนนักศึกษาจำนวนหนึ่งที่คณะ โดยรองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาเป็นผู้ประสาน ในการสอบสวนดังกล่าว เจ้าหน้าที่ได้นำข้อความที่ตัดตอนมาจากคำบรรยายของตนมาให้นักศึกษาดู แล้วถามความเห็นนักศึกษาว่า เป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพหรือไม่ ซึ่งหลังจากพบว่านักศึกษาทุกคนตอบว่าไม่ ทางเจ้าหน้าที่ได้มีท่าทีไม่พอใจ และให้พานักศึกษาคนใหม่มาเพิ่ม แต่นักศึกษาที่มาใหม่ก็ตอบว่าไม่เช่นกัน

ผศ.บุญส่งเปิดเผยเพิ่มเติมอีกว่า ผศ.ดร.มณีปิ่น พรหมสุทธิรักษ์ รักษาการคณบดีเองก็ได้บอกกับตนว่า เจ้าหน้าที่เคยนำข้อความที่ตัดมาจากคำบรรยายของตนมาถามรักษาการคณบดีเช่นกัน ว่า ในฐานะนักวิชาการคิดว่าเข้าข่ายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพหรือไม่ และขอให้แนะนำนักวิชาการที่ควรจะไปถามความเห็น ซึ่งรักษาการคณบดีได้แนะนำดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยนิด้า ส่วนนักวิชาการคนอื่นๆ ที่ตนทราบว่าเจ้าหน้าที่ได้ไปขอความเห็นคือ ดร.ไชยันต์ ชัยพร

ผศ.บุญส่งยังได้ให้ความเห็นต่อการแจ้งความดำเนินคดีดังกล่าวว่า น่าจะเป็นการกลั่นแกล้ง เนื่องจากในช่วงที่มีการสรรหาคณบดีคณะอักษรศาสตร์ครั้งล่าสุดนั้น ตนได้ร่วมกับอาจารย์ในคณะจำนวนหนึ่ง ยื่นบันทึกคัดค้านคุณสมบัติของคณบดีอักษรศาสตร์คนเดิม ซึ่งในขณะนั้นมีแนวโน้มว่าอาจจะได้ดำรงตำแหน่งต่อ โดยใช้หลักฐานเรื่องความไม่โปร่งใสและไม่มีธรรมาภิบาลในการบริหาร ซึ่งขณะนี้คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกำลังตรวจสอบอยู่ นอกจากนั้น ตนยังเคยตั้งข้อสังเกตว่า ผศ.วินัย ผู้นำพล ได้เบิกหมึกเพื่อใช้ในงานส่วนตัว ซึ่งคิดเป็นมูลค่ากว่า 50,000 บาท โดยไม่ต้องแสดงตลับหมึก และคณบดีคนดังกล่าวเป็นผู้อนุมัติ

อีกทั้งก่อนหน้านี้ ผศ.วินัยก็ได้เคยยื่นเรื่องไปยังคุณหญิงไขศรี ศรีอรุณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ระบุว่า ตนกับรศ.พรเพ็ญ ฮั่นตระกูล ทำการสอนที่หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งคุณหญิงไขศรีได้ส่งเรื่องให้ชุมพล ศิลปอาชา นายกสภามหาวิทยาลัย ก่อนจะมีการส่งเรื่องต่อให้กับรศ.ดร.วิวัฒน์ชัย อัตถากร อธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร (ในขณะนั้น) โดยในกรณีดังกล่าว รศ.พรเพ็ญได้ชี้แจงกับอธิการบดีว่า แม้จะมีชื่ออยู่ในเค้าโครงการสอนในวิชาเดียวกับตน แต่เทอมนั้นรศ.พรเพ็ญไม่ได้สอน อย่างไรก็ตาม กรณีดังกล่าวได้ยุติไป เนื่องจากอธิการบดีเห็นว่าเป็นการกลั่นแกล้งกัน

ผศ.บุญส่ง ยังได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับการออกข้อสอบว่า แกนของระบอบประชาธิปไตยคือสิทธิเสรีภาพ การแสดงความคิดเห็นต้องได้รับการเคารพ ยิ่งในทางวิชาการ ถ้าหากไม่มีเสรีภาพในการแสดงความเห็นก็จะทำลายหลักอุดมศึกษา และการสอนในมหาวิทยาลัยต้องมีการวิเคราะห์ ตั้งคำถาม วิพากษ์ เพื่อฝึกฝนให้นักศึกษาคิดเป็น มีวิจารณญาณเป็นของตัวเอง เพื่อให้เป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ ซึ่งหากแม้แต่สิทธิเสรีภาพทางวิชาการยังไม่สามารถมีได้ จะสามารถสร้างสังคมอุดมปัญญาได้อย่างไร

"...เราต้องทำความเข้าใจกับปรากฏการณ์ เพราะปรากฏการณ์ต่างๆ สะท้อนพฤติกรรมทางสังคม ลักษณะโครงสร้างสังคม การปะทะกันทางอำนาจของกลุ่มทางสังคมต่างๆ หัวข้อพวกนี้ ต้องวิเคราะห์ในการเรียนการสอน ปรากฏการณ์เสื้อเหลือง ดูเฉยๆ ไม่ได้ ในการเรียนการสอนต้องเอามาวิเคราะห์ว่าสะท้อนถึงอะไร..."

ผศ.บุญส่งกล่าวอีกว่า การพูดถึงปรากฏการณ์เสื้อเหลืองเป็นคนละเรื่องกับการวิจารณ์สถาบันกษัตริย์ โดยตนเห็นว่าการดึงสถาบันสถาบันกษัตริย์ซึ่งเป็นที่เคารพในฐานะประมุขทางวัฒนธรรม มาโจมตีทำลายผู้อื่น เป็นปรากฏการณ์ที่คนในสังคมไม่ควรยอมรับ


21 กรกฎาคม 2550
เวบไซต์ประชาไท ได้เผยแพร่ข้อสอบรายวิชาอารยธรรมไทย ซึ่ง ผศ.บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์ เป็นผู้ออกข้อสอบ ดังนี้

.......... .......... .......... .......... .......... .......... .......... .......... .......... ..........
คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
ข้อสอบประจำ ภาคการศึกษาต้น ปีการศึกษา 2548
ข้อสอบวิชา 449- 104 THAI CIVILIZATION (สำหรับหลักสูตรปกติ )
จำนวน 1 หน้า
สอบวันพฤหัสที่ กันยายน 2548
เวลา 13.30 น.-16.30 น.

คำสั่ง ๑. ข้อสอบทั้งหมดมี ๑๐ ข้อ ให้ทำเพียง ๔ ข้อ โดยต้องทำข้อที่ ๑
(ข้อละ ๒๐ คะแนน รวม ๘๐ คะแนน)
๒. ให้นำเอกสารใด ๆ เข้ามาดูเพื่อช่วยในการตอบคำถามได้


๑. ท่านคิดว่า รัฐชาติไทยควรกำหนดความเป็นไทยและเอกลักษณ์แห่งชาติหรือไม่ เพราะเหตุใด และอย่างไร จงอภิปราย
๒. ท่านคิดว่าประเทศไทยควรใช้แนวทางการพัฒนาแบบใด จึงจะเป็นประโยชน์กับคนส่วนใหญ่ในสังคม จงอภิปราย
๓. ท่านคิดว่าการเคลื่อนไหวของขบวนการทางสังคมในสังคมไทยปัจจุบันควรเป็นเช่นไร อย่างไร จงอภิปราย
๔. ท่านคิดว่าสังคมไทยควรมีการปรับเปลี่ยนทัศนคติในเรื่องเพศและกามารมณ์หรือไม่ อย่างไร จงอภิปราย
๕. ท่านคิดว่าสังคมไทยจะแก้ปัญหาการก่อการร้ายได้อย่างไร จึงจะเกิดความเป็นธรรมกับทุก ๆ ฝ่าย จงอภิปราย
๖. ท่านคิดว่าการบริหารจัดการประเทศของรัฐบาลปัจจุบันมีความเหมาะสมหรือไม่ อย่างไร จงอภิปราย
๗. ท่านคิดว่าการกระโดดตามรถไฟของกระแสโลกาภิวัตน์ให้ทันเป็นสิ่งที่จำเป็นและเป็นประโยชน์กับสังคมไทยหรือไม่ อย่างไร จงอภิปราย
๘. ท่านคิดว่าสถาบันกษัตริย์มีความจำเป็นสำหรับสังคมไทยหรือไม่ อย่างไร และต้องปรับตัวอย่างไรให้เหมาะสมกับระบอบประชาธิปไตย จงอภิปราย
๙. ท่านคิดว่าสังคมไทยควรทำอย่างไรจึงจักกำจัดวัฒนธรรมแบบอำนาจนิยมและศักดินานิยมให้หมดอิทธิพลลงไปได้ จงอภิปราย
๑๐. ท่านคิดว่าระบบทุนนิยมให้ประโยชน์หรือสร้างปัญหากับสังคมไทยอย่างไร และท่านมีข้อเสนออย่างไรในการจัดการปัญหาดังกล่าว จงอภิปราย

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์- ผู้ออกข้อสอบ



.......... .......... .......... .......... .......... .......... .......... .......... .......... ..........

คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
ข้อสอบประจำ ภาคการศึกษาต้น ปีการศึกษา 2548
ข้อสอบวิชา 449- 104 THAI CIVILIZATION (สำหรับหลักสูตรเอเชียศึกษา)
จำนวน 1 หน้า
สอบวันพฤหัสที่ 22 กันยายน 2548
เวลา 13.30 น.-16.30 น.

คำสั่ง ๑. ข้อสอบทั้งหมดมี ๑๐ ข้อ ให้ทำเพียง ๔ ข้อ โดยต้องทำข้อที่ ๑
(ข้อละ ๒๐ คะแนน รวม ๘๐ คะแนน)
๒. ให้นำเอกสารใด ๆ เข้ามาดูเพื่อช่วยในการตอบคำถามได้

๑. ท่านคิดว่า รัฐชาติไทยควรกำหนดเอกลักษณ์แห่งชาติหรือไม่ เพราะเหตุใด และอย่างไร จงอภิปราย
๒. ท่านคิดว่าสังคมไทยมีปัญหาความอยุติธรรมทางสังคมอย่างไรบ้าง และท่านมีแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างไร จงอภิปราย
๓. ท่านคิดว่าเราควรดำเนินการอย่างไรจึงจะแก้ปัญหาความขัดแย้งในบริเวณสามจังหวัดภาคใต้ได้อย่างเป็นธรรม จงอภิปราย
๔. ท่านคิดว่าสังคมไทยต้องเผชิญปัญหาอะไรบ้างจากกระแสโลกาภิวัตน์ และท่านคิดว่าสังคมไทยควรใช้แนวทางเช่นไรในการจัดการปัญหาดังกล่าว จงอภิปราย
๕. ท่านคิดว่าพัฒนาการทางศิลปะในสังคมไทยเผชิญปัญหาอะไรบ้าง และเพื่อให้การสร้างสรรค์ทางศิลปะมีความรุ่งเรือง ท่านคิดว่ารัฐควรมีบทบาทหรือไม่ อย่างไร จงอภิปราย
๖. ท่านคิดว่าสถาบันกษัตริย์ม ีความจำเป็นสำหรับสังคมไทยหรือไม่ อย่างไร และต้องปรับตัวอย่างไรให้เหมาะสมกับระบอบประชาธิปไตย จงอภิปราย
๗. ท่านคิดว่าแนวทางการบริหารประเทศและการดำเนินการทางเศรษฐกิจของรัฐบาล ปัจจุบันจะทำให้สังคมไทยดีขึ้นในความหมายการมีชีวิตที่ดี ที่ยุติธรรม และเสมอภาค หรือไม่ อย่างไร จงอภิปราย
๘. ท่านคิดว่าการเคลื่อนไหวทางสังคมของขบวนการทางสังคมมีความจำเป็นสำหรับสังคมไทยปัจจุบันหรือไม่ อย่างไร จงอภิปราย
๙. ท่านคิดว่าแนวทางการพัฒนาแบบใดเหมาะสมกับสังคมไทย และทำให้สังคมไทยไม่เป็นเหยื่อของกระแสโลกาภิวัตน์
๑๐. ท่านคิดว่าเราจะต่อสู้กับวัฒนธรรมแบบอำนาจนิยมและศักดินานิยมในสังคมไทยอย่างไร จงอภิปราย

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์- ผู้ออกข้อสอบ



.......... .......... .......... .......... .......... .......... .......... .......... .......... ..........

คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
ข้อสอบประจำ ภาคการศึกษาต้น ปีการศึกษา 2549
ข้อสอบวิชา 449- 104 THAI CIVILIZATION
จำนวน 1 หน้า
สอบวันพฤหัสที่ 28 กันยายน 2549
เวลา 13.30 น.-16.30 น.

คำสั่ง ๑. ข้อสอบทั้งหมดมี ๑๐ ข้อ ให้ทำเพียง ๔ ข้อ โดยต้องทำข้อที่ ๑
(ข้อละ ๒๐ คะแนน รวม ๘๐ คะแนน)
๒. ให้นำเอกสารใด ๆ เข้ามาดูเพื่อช่วยในการตอบคำถามได้

๑. ท่านคิดว่า ความเป็นชาติไทยมีหรือไม่ คืออะไร และควรมีเอกลักษณ์แห่งชาติหรือไม่
๒. ท่านคิดว่าประเทศไทยควรใช้แนวทางการพัฒนาตามแนวทางทุนนิยมโลกาภิวัตน์หรือไม่ เพราะเหตุใด และอย่างไร จงอภิปราย
๓. ท่านมองบทบาทของกลุ่มพันธมิตรเพื่อประชาธิปไตยในการต่อต้านระบอบทักษิณเช่น ไร การเคลื่อนไหวทางสังคมในแนวทางเช่นนี้เหมาะสมหรือไม่ และเป็นประโยชน์กับสังคมไทยอย่างไร จงอภิปราย
๔. ท่านคิดว่าสังคมไทยควรมีการปรับเปลี่ยนทัศนคติในเรื่องเพศและกามารมณ์ต่อผู้หญิงและกลุ่มรักร่วมเพศหรือไม่ อย่างไร จงอภิปราย
๕. ท่านคิดว่าสังคมไทยจะแก้ปัญหาการก่อการร้ายในภาคใต้ได้อย่างไร จึงจะเกิดความเป็นธรรมกับทุก ๆ ฝ่าย จงอภิปราย
๖. ท่านคิดว่ากระแสคนเสื้อเหลืองสะท้อนปัญหาสังคมไทยเช่นไร และเป็นตัวปัญหาที่ต้องแก้ไขหรือไม่ อย่างไร จงอภิปราย
๗. ท่านคิดว่าสังคมไทยควรดำเนินไปในทิศทางเช่นไร จึงจักไม่ตกเป็นเหยื่อของกระแสโลกาภิวัตน์ จงอภิปราย
๘. ท่านคิดว่าโลกทัศน์และชีวทัศน์แบบใดมีความจำเป็นสำหรับสังคมไทยภายใต้ระบอบประชาธิปไตย จงอภิปราย
๙. ท่านคิดว่าวัฒนธรรมแบบอำนาจนิยมและศักดินานิยมเป็นปัญหากับสังคมไทยหรือไม่ และควรจัดการอย่างไรในเรื่องนี้ จงอภิปราย
๑๐. ท่านคิดว่ารัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขใหม่ควรเป็นเช่นไร เน้นหนักที่เรื่องใด เพราะเหตุใด จงอภิปราย

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์- ผู้ออกข้อสอบ


.......... .......... .......... .......... .......... .......... .......... .......... .......... ..........



24 กรกฎาคม 2550
รศ.สมเกียรติ ตั้งนโม อาจารย์ประจำคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และนักวิชาการผู้ร่วมก่อตั้งมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ได้ออกจดหมายเปิดผนึกทั้งภาษาไทยและอังกฤษ เชิญชวนให้ "ผู้ห่วงใยต่อเสรีภาพ/ Friends of Thailand" ร่วมลงชื่อผ่านทางเวบไซต์ http://www.petitiononline.com เพื่อให้กำลังใจ ผศ. บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์ และคัดค้านการคุกคามเสรีภาพทางวิชาการ โดยเนื้อหาของจดหมายดังกล่าวตอนหนึ่งระบุว่า
“…การดำเนินการดังกล่าวของพนักงานสอบสวนและผู้บริหารมหาวิทยาลัย เป็นการคุกคามเสรีภาพทางวิชาการอย่างรุนแรงอย่างที่ไม่เคยมีปรากฎมาก่อน การดำเนินการนี้ยังได้เป็นสัญญาณบ่งบอกถึงการใช้ข้อกล่าวหาเรื่อง “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพฯ” ที่ถูกใช้เป็นเครื่องมืองในการปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นของประชาชนและสาธารณชนมาโดยตลอดนั้น ขณะนี้ได้คืบขยายเข้ามาสู่แวดวงวิชาการแล้ว... ขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่กำลังคุกคามเสรีภาพทางวิชาการอยู่ขณะนี้ ยุติการดำเนินการดังกล่าวโดยทันที…”


จดหมายผนึกดังกล่าว ได้ถูกส่งต่อไปอย่างกว้างขวาง มีผู้ร่วมลงชื่อและแสดงความเห็นต่อเรื่องนี้กว่า 800 คน อาทิ

รศ.ใจ อึ๊งภากรณ์ อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ หนึ่งในผู้ร่วมลงชื่อ ได้เขียนแสดงความเห็นในหน้าเวบไซต์ดังกล่าวว่า
“เรื่อง นี้เป็นเรื่องสิทธิเสรีภาพทางวิชาการพื้นฐาน ถ้าสังคมไทยปิดกั้นไม่ให้นิสิตนักศึกษาใช้ปัญญาในการทำความเข้าใจเกี่ยวกับ สถาบันกษัตริย์แล้วก็เท่ากับว่ามีการบังคับให้พลเมืองเคารพโดยไร้เหตุผล”


ส่วน ร.ศ.สุชาย ตรีรัตน์ อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ได้ลงชื่อและแสดงความเห็นว่า
"1.เลิกได้แล้วกฎหมายหมิ่น มันเป็นอาวุธที่ใช้กลั่นแกล้งผู้อื่นของระบบเผด็จการเบ็ดเสร็จทั้งหลาย เช่น ในสมัยนาซี-ฟาสซิสต์ ระบอบสตาลินย้อนไปถึงระบบจักรพรรดิจีนและนครรัฐกรีซโบราณ 2.การเรียนการสอนที่ดีต้องเปิดผู้เรียนไต่ถามตรวจสอบและแสดงความเห็นได้ เพื่อให้การปฏิรูปการศึกษาเป็นจริงไม่ใช่เฝ้าพูดปฏิรูปแต่คอยปิดกั้นซึ่งจะ ทำให้เด็กไทยมีปัญหามากเหมือน"ผู้ใหญ่"หลายคนของสังคมไทยในเวลานี้"

ขณะที่ ผศ.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้แสดงความเห็นพร้อมกับร่วมลงชื่อว่า
“ช็อค ข้อสอบคือความคิดที่เปิดเผยของเด็ก คือบทลับสมองแง่มุมต่างๆ ที่จะทำให้เยาวชนของเราเติบโตเป็นผู้ใหญ่และมีวิจารณญาณ ดังนั้น มหาวิทยาลัยต้องปกป้องหลักการเสรีภาพทางวิชาการ ดังปรากฏในรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 มาตรา 42 และรัฐธรรนูญฉบับจะประชามติ ส่วนที่ 7 สิทธิและเสรีภาพในการศึกษา "มาตรา 50 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในทางวิชาการ การศึกษาอบรม การเรียนการสอน การวิจัย และการเผยแพร่งานวิจัยตามหลักวิชาการ ย่อมได้รับความคุ้มครอง ทั้งนี้ เท่าที่ไม่ขัดต่อหน้าที่ของพลเมืองหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน" ผู้บริหารมหาวิทยาลัยทุกแห่ง ต้องมีสปิริตและยึดกุมประเด็นเสรีภาพทางวิชาการ และปกป้องคุ้มครองอาณาจักรแห่งเสรีภาพนี้ไว้อย่างเข็มแข็ง”


ขณะเดียวกันก็มีผู้ใช้หน้าลงนามให้กำลังใจดังกล่าว เขียนข้อความวิพากษ์วิจารณ์และด่าทอผศ.บุญส่งด้วย


หมายเหตุ ดูจดหมายเปิดผนึกดังกล่าวของรศ.สมเกียรติ ตั้งนโม ได้ที่ http://www.petitiononline.com/4bs2007/petition.html


2552
ทาง LM watch ได้ติดต่อสอบถามไปยังผศ.บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์ ถึงความคืบหน้าในกรณีดังกล่าว ซึ่งได้รับคำตอบว่า ปัจจุบันการดำเนินการในด้านคดีความนั้นได้ถูกระงับไปแล้ว หลังจากที่ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตั้งคณะกรรมการอย่างเป็นทางการ ขึ้นมาดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐานและพิจารณาว่าสมควรส่งฟ้องหรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมา ตนเองยังไม่เคยถูกหมายเรียกหรือแจ้งข้อกล่าวหาโดยตรง

ผศ.บุญส่งได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า ในช่วงที่มีการดำเนินการสอบสวนนั้น ตนได้รับความช่วยเหลือจากหลายฝ่าย ทั้งอาจารย์บางคนในภาควิชา และบุคคลภายนอกอีกจำนวนมาก รวมทั้งผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าวต่างๆ ที่ให้ความสนใจ เช่น ประชาไท ซึ่งเป็นสำนักข่าวในประเทศที่ติดตามนำเสนอข่าวโดยตลอด ส่วนสำนักข่าวต่างประเทศนั้นได้ให้ความสนใจเป็นอย่างมาก โดยนอกจากจะนำเสนอข่าวแล้ว ได้มีผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าวของฝรั่งเศสเดินทางมาสัมภาษณ์ ขณะที่สำนักข่าวรอยเตอร์ก็ได้ส่งทีมงานมาสัมภาษณ์และถ่ายทำวีดีโอการสอนในห้องเรียนไปเผยแพร่

นอกจากนี้ กรณีดังกล่าว ยังได้รับความสนใจจากสถานทูตอเมริกาประจำประเทศไทย โดยทางสถานทูตฯได้ติดต่อขอข้อมูลและแสดงความห่วงใยมายังผศ.บุญส่ง รวมทั้งแจ้งว่าจะทำเป็นรายงานต่อรัฐสภาและประธานาธิบดี ซึ่งต่อมาได้ปรากฏรายงานในเว็บไซต์ของรัฐบาลอเมริกา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น