วันอังคารที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

ข้อมูลเพิ่มเติม 'กรณี ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล' (18 มิ.ย. - 2 ก.ค. 52)

ข้อมูลเพิ่มเติม 'กรณี ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล'
(18 มิ.ย. - 2 ก.ค. 52)

'ดา ตอร์ปิโด' ขึ้นศาลแล้ว หลังถูกขังเกือบปี
คดีส่อเค้าวุ่น ศาลสั่งพิจารณาลับ เจ้าตัวร้องไม่เป็นธรรม
'AI' ออกแถลงการณ์หนุน 'เปิดเผย' โฆษกบัวแก้วสวน 'ไม่มีเหตุผลอย่างยิ่ง'


คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่ซึ่งดารณี ชาญเชิงศิลปกุล ตกเป็นจำเลย ขึ้นสู่การพิจารณาในชั้นศาลเป็นครั้งแรกแล้วเมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 52 ที่ผ่านมา หลังถูกคุมขังโดยไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัวเกือบปี โดยศาลอาญาได้มีคำสั่งให้พิจารณาลับ ห้ามสื่อมวลชนและประชาชนเข้าฟัง แม้ว่าทนายจำเลยจะพยายามร้องขอให้พิจารณาโดยเปิดเผย แต่ศาลยกคำร้อง เจ้าตัวเขียน 'คำแถลง' ถึง 'สื่อมวลชนและพี่น้องผู้รักความเป็นธรรม'

ต่อมา องค์การนิรโทษสากล (Amnesty International - AI) ได้ออกแถลงการณ์ผ่านสื่อมวลชน เรียกร้องให้การพิจารณาคดีดังกล่าวกระทำโดยเปิดเผย พร้อมระบุ "เมื่อศาลปิดประตูห้องพิจารณา นั่นคือสัญญาณเสี่ยงต่อความอยุติธรรม" ก่อนถูกโฆษกกระทรวงต่างประเทศออกมาตอบโต้ทันควัน

รายละเอียด:

18 มิถุนายน 2552
เวบไซต์ประชาไท รายงานว่า ในวันที่ 23 มิ.ย. 52 คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งดารณี ชาญเชิงศิลปกุล เป็นจำเลย จะขึ้นสู่การพิจาณาของศาลเป็นครั้งแรก และจะมีการสืบพยานโจทก์และจำเลยแบบต่อเนื่องตลอดสัปดาห์ โดยหลังจากนั้นจะเริ่มสืบพยานในอีก 2 คดี ได้แก่ คดีการนำมวลชนไปล้อมสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี และคดีหมิ่นประมาท พล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร ซึ่งมีดารณีเป็นจำเลยเช่นกัน

พร้อมกันนั้น ประชาไทได้เผยแพร่บทสัมภาษณ์ประเวศ ประภานุกูล ทนายความของดารณี ชาญเชิงศิลปกุล ซึ่งประชาไทได้สอบถามความคิดเห็นของทนายผู้นี้ เกี่ยวกับคดีของดารณี และมุมมองต่อกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

อ่านบทสัมภาษณ์ ประเวศ ประภานุกูล คลิ้กที่นี่

22 มิถุนายน 2552เวบไซต์ประชาไท รายงานว่า ในวันที่ 23-25 มิ.ย. 52 จะมีการนัดสืบพยานโจทก์ในคดีของ ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล หรือ “ดา ตอร์ปิโด” ผู้ต้องหาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ส่วนในวันที่ 26 และ 29 มิ.ย. จะเป็นการสืบพยานจำเลย

ทั้ง นี้ ประชาไทระบุว่า การสืบพยานดังกล่าวเป็นการสืบต่อเนื่องก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษาในลำดับถัดไป และยังเป็นการพิจารณาคดีเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ดารณีถูกจับกุมและคุมขังเมื่อวันที่ 22 ก.ค.51 ซึ่งที่ผ่านมา แม้ทนายความจะได้พยายามยื่นขอประกันตัวหลายครั้ง แต่ศาลก็พิจารณายกคำร้อง

นอกจากนี้ ประชาไทยังระบุด้วยว่า ในเดือนก.ค.52นี้ ศาลได้นัดสืบพยานโจทก์และจำเลย ในคดีล้อมบ้านพระอาทิตย์ หมิ่นประมาทสนธิ ลิ้มทองกุล และคดีหมิ่นประมาท พล.อ.สะพรั่ง กัลยาณมิตร ซึ่งดารณีตกเป็นจำเลยเช่นกัน

23 มิถุนายน 2552
วันนัดสืบพยานโจทก์นัดแรกของคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ที่ดารณี ชาญเชิงศิลปกุลเป็นจำเลย

ศาลอาญา โดยผู้พิพากษาพรหมาศ ภู่แสง ได้มีคำสั่งให้พิจารณาคดีดังกล่าวเป็นการลับ โดยคำสั่งดังกล่าวอาศัยอำนาจตามมาตรา 177 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

24 มิถุนายน 2552ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล ได้เผยแพร่คำแถลงถึง 'สื่อมวลชนและพี่น้องผู้รักความเป็นธรรม' โดยในคำแถลงดังกล่าว ดารณีได้ระบุว่า ตนตกเป็นจำเลยข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมาตั้งแต่ 22 ก.ค. 51 และถูกขังมาเกือบ 1 ปี โดยไม่เคยได้รับการประกันตัวจนถึงทุกวันนี้ ทั้งที่ผู้ต้องคดีในข้อหาเดียวกันหลายคนได้รับการประกันตัว

นอกจากนี้ ในคำแถลงดังกล่าว ดารณีได้ตั้งคำถามต่อการพิจารณาคดี ซึ่งศาลยังมีคำสั่งให้พิจารณาเป็นการลับ ห้ามมิให้สื่อมวลชนและประชาชนเข้ารับฟัง ว่า เหตุใดในคดีอื่นๆ "ในข้อหาเดียวกันประเภทเดียวกัน" หมิ่นพระบรมเดชานุภาพกรณีอื่นๆ จึงไม่มีการใช้กฎเกณฑ์เช่นนี้ ซึ่งตนเห็นว่า การพิจารณาคดีโดยลับ เป็นการปิดบังข้อเท็จจริงมิให้ประชาชนได้รับรู้ และเป็นการทำลายหลักการยุติธรรมของกฎหมายโดยสิ้นเชิง ตนจึงไม่อาจยอมรับการพิจารณาคดีโดยลับนี้ได้ และขอประกาศว่า ไม่ว่าผลจะเป็นประการใดจะไม่ขอยอมรับ ไม่เชื่อถือ ไม่ให้ความเคารพ และจะต่อสู้ให้ถึงที่สุด

ในตอนท้ายคำแถลงดังกล่าว ดารณีได้ระบุว่า ในวันเดียวกันนี้เมื่อ 77 ปีก่อน มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศมาสู่ระบอบประชาธิปไตย รวมทั้งได้กล่าวสรรเสริญและแสดงความเชื่อมั่นต่อเจตนารมณ์ของการเปลี่ยนแปลงการปกครองดังกล่าว

"แม้ว่าในวันนี้ข้าพเจ้าจะไม่ได้รับความเป็นธรรม แต่ก็เชื่อมั่นว่า
เจตนารมณ์ของคณะราษฎร์ผู้เปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 จะต้องได้รับชัยชนะในที่สุด"

25 มิถุนายน 2552
ที่ห้องพิจารณาคดี 904 ศาลอาญา ทนายความของดารณี ชาญเชิงศิลปกุล ได้ยื่นคำร้องต่อศาล ให้รอการพิจารณาพิพากษาคดีไว้ชั่วคราวตามมาตรา 211 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

โดยระบุว่า การที่ศาลอาญามีคำสั่งเมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 52 ซึ่งเป็นวันนัดสืบพยานโจทก์นัดแรกให้พิจารณาเป็นการลับ โดยคำสั่งดังกล่าวอาศัยอำนาจตามมาตรา 177 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา นั้น ฝ่ายจำเลยมีความเห็นว่า การที่ศาลสั่งพิจารณาคดีลับ ห้ามมิให้ประชาชนทั่วไปเข้าฟังการพิจารณา เป็นการใช้บทบัญญัติกฎหมาย ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตราที่ 40 (2) ที่ระบุสิทธิขั้นพื้นฐานในกระบวนการพิจารณา ซึ่งอย่างน้อยต้องมีหลักประกันพื้นฐานเรื่องการได้รับการพิจารณาโดยเปิดเผย การได้รับทราบข้อเท็จจริง และการตรวจเอกสารอย่างเพียงพอ การเสนอข้อเท็จจริง ข้อโต้แย้งและพยานหลักฐานของตน การคัดค้านผู้พิพากษาหรือตุลาการ การได้รับการพิจารณาโดยผู้พิพากษาหรือตุลาการที่นั่งพิจารณาคดีครบองค์คณะ และการได้รับทราบเหตุผลประกอบคำวินิจฉัย คำพิพากษาหรือคำสั่ง และรัฐธรรมนูญมาตรา 29 ที่บัญญัติว่า การจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะเพื่อการที่รัฐธรรมนูญนี้และเท่าที่จำเป็น และจะกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพนั้นมิได้

ฝ่ายจำเลยเห็นว่าบทบัญญัติมาตรา 117 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่ศาลอาศัยอำนาจสั่งให้การพิจารณาคดีลับนั้นขัดและแย้งกับกฎหมายรัฐธรรมนูญ และศาลรัฐธรรมนูญยังไม่เคยมีการวินิจฉัยเรื่องนี้ จึงขอให้ศาลส่งความเห็นของจำเลยไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญมาตรา 211 โดยขอให้ศาลอาญารอการพิพากษาคดีนี้ไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าจะมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

ต่อมาในวันเดียวกัน ศาลได้พิจารณายกคำร้องดังกล่าวของทนายจำเลย โดยระบุว่า การพิจารณาลับไม่ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 211 เนื่องจากจำเลยมีทนายแก้ต่าง และสามารถนำพยานหลักฐานมายังศาลได้อย่างครบถ้วน การพิจารณาคดีจึงดำเนินต่อไป

อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากไต่สวนพยานโจทก์แล้ว ทนายของดารณี ได้แถลงต่อศาลขอยกเลิกการไต่สวนพยานจำเลยตามกำหนดเดิมคือวันที่ 26 และ 30 มิ.ย. โดยขอนัดไต่สวนในวันที่ 28 ก.ค. และ 5 ส.ค. 52 ซึ่งศาลอนุญาต

26 มิถุนายน 2552เวบไซต์ประชาไท รายงานว่า องค์การนิรโทษกรรมสากล (Amnesty International) ได้ส่งแถลงการณ์ถึงผู้สื่อข่าว ระบุว่า รัฐบาลไทยต้องอนุญาตให้มีการพิจารณาที่เปิดเผยต่อสาธารณะแก่ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล ซึ่งถูกกล่าวหาว่าละเมิดกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพด้วยการดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ โดยทันที พร้อมทั้งระบุว่า แม้สนธิสัญญาสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองระหว่างประเทศ (ICCPR) และรัฐธรรมนูญ จะอนุญาตให้กีดกันสาธารณะออกจากการพิจารณาคดีได้ แต่ก็ต้องเป็นไปอย่างจำกัดอย่างยิ่ง และจะต้องเป็นเพียงมาตรการสำคัญเพียงอย่างเดียวที่เหลืออยู่ หลังจากไม่มีมาตรการอื่นใดที่ใช้ได้แล้ว

"ภายใต้หลักกฎหมายสากล การพิจารณาคดีที่เปิดเผยต่อสาธารณะเป็นหลักสำคัญในการปกป้องสิทธิของปัจเจกบุคคลจากการพิจารณาคดีและกระบวนการเกี่ยวกับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม...เมื่อศาลปิดประตูห้องพิจารณา นั่นคือสัญญาณเสี่ยงต่อความอยุติธรรม"

"รัฐบาลไทยจะต้องเผชิญกับสถานการณ์ลำบากในการอธิบายว่าทำไมการพิจารณาคดีบุคคลคนหนึ่งที่ถูกกล่าวหาว่าแสดงความเห็นดูหมิ่น จึงต้องประนีประนอมกับความมั่นคงของประเทศไทย"
แซม ซาริฟี ผู้อำนวยการองค์การนิรโทษกรรมสากลภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกกล่าวในแถลงการณ์



สำนักข่าวรอยเตอร์ได้รายงานข่าวนี้เช่นกัน โดยระบุว่า องค์การนิรโทษกรรมสากลเรียกร้องประเทศไทย ให้เปิดเผยกระบวนการพิจารณาคดีที่นักเคลื่อนไหวทางการเมืองถูกฟ้องด้วยข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพหลังจากที่การพิจารณาคดีถูกปิดลับด้วยเหตุผลเรื่อง "ความมั่นคงของชาติ" รวมทั้งให้ข้อมูลว่า เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ผู้พิพากษาพรหมาศ ภู่แสง ได้สั่งให้ผู้สื่อข่าวและผู้สนับสนุนดารณีออกจากห้องพิจารณาคดีของศาลอาญาด้วยเหตุผลว่าคดีนี้กระทบต่อความมั่นคงของชาติ

รอยเตอร์ได้สอบถามไปยังผู้พิพากษาพรหมาศ ภู่แสง ซึ่งได้รับคำตอบว่า ตนไม่มีความเห็นต่อแถลงการณ์ขององค์กรนิรโทษกรรมสากล แต่ยืนยันในการตัดสินให้การพิจารณาคดีปิดลับ

"สิ่งหนึ่งที่ผมสามารถพูดได้คือ ผมเป็นกลาง" ผู้พิพากษาพรหมาศกล่าวกับรอยเตอร์


ทั้งนี้ รอยเตอร์ ได้ระบุในรายงานเดียวกันด้วยว่า
"...ดารณี วัย 46 ปี เป็นที่รู้จักกันในนามของ ดา ตอร์ปิโด ถูกจับและดำเนินคดีข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา หลังจากได้กล่าวปราศรัยอย่างรุนแรงเกี่ยวกับการรัฐประหารที่โค่นอำนาจทักษิณ

ดารณีไม่มีหลักประกันเรื่องความยุติธรรมหากสาธารณะถูกกีดกันออกจากการมีส่วนร่วมในการพิจารณาคดี ทนายของดารณีทำหนังสืออุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว

การพิจารณาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่น่าตกตะลึงซึ่งจะเกิดขึ้นอีกครั้งในวันที่ 28 ก.ค. ถูกวิจารณ์ว่าเป็นการปิดกั้นผู้ที่ไม่เชื่อฟังและเสรีภาพในการพูด

กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หรือการดูหมิ่นสถาบันกษัตริย์ เป็นกฎหมายที่เข้มงวดของไทย ประเทศซึ่งประชาชนจำนวนมากจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พระชนมายุ 81 พรรษา ทรงเป็นสมมติเทพซึ่งอยู่เหนือการเมือง
ความผิดฐานนี้คือการจำคุกไม่เกิน 15 ปี…"

ต่อมาในวันเดียวกัน เวบไซต์ประชาไทได้มีรายงานว่า ในวันที่ 26 มิ.ย. 52 ธานี ทองภักดี รักษาการอธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ได้ตอบคำถามผู้สื่อข่าวกรณีองค์การนิรโทษสากล (Amnesty International) ออกแถลงข่าวเกี่ยวกับการพิจารณาคดีของดารณี ชาญเชิงศิลปกุล หรือ ดา ตอร์ปิโด ว่า การพิจารณาคดีดังกล่าวเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมภายใต้หลักกฎหมาย เช่นเดียวกับคดีอื่นๆ โดยผู้ถูกดำเนินคดีได้รับสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม มีโอกาสในการต่อสู้คดีและได้รับความช่วยเหลือจากทนาย

ส่วนการที่ศาลสั่งให้พิจารณาคดีเป็นการลับนั้น ถือเป็นดุลพินิจของศาลตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 177 สำหรับเรื่องที่มีความละเอียดอ่อน ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์แห่งความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันความลับอันเกี่ยวกับความปลอดภัยของประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ (ข้อ 14 ของกติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง) และไม่แตกต่างจากแนวปฏิบัติของประเทศอื่นๆ

นอกจากนี้รักษาการอธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ยังระบุด้วยว่า เป็นเรื่องที่น่าเสียใจและไม่มีเหตุผลอย่างยิ่ง ที่องค์การนิรโทษสากลจะตั้งข้อสงสัยใดๆ เกี่ยวกับความเที่ยงธรรมและความเป็นมืออาชีพของตุลาการไทย

28 มิถุนายน 2552เวบไซต์ประชาไท ได้เผยแพร่คำแถลงของดารณี ชาญเชิงศิลปะกุล เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 52 ฉบับเต็ม

ดูคำแถลงฉบับเต็มคลิ้กที่นี่

2 กรกฎาคม 2552
ที่ห้องพิจารณาคดี 908 ศาลอาญา ศาลนัดสืบพยานโจทก์ 5 ปาก ในคดีที่พนักงานอัยการยื่นฟ้องดารณี ชาญเชิงศิลปกุล หรือดา ตอร์ปิโด ในข้อหาร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่สิบคนขึ้นไป กระทำให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง หน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ทำให้เสียทรัพย์ พยายามบุกรุกและหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการป่าวประกาศ กระจายเสียง จากเหตุการณ์ที่ดารณีได้นำประชาชนในกลุ่มแนวร่วมประชาชนเพื่อต่อต้านเผด็จ การ (นปก.) ในขณะนั้นราว 50-70 คน เดินทางไปชุมนุมล้อมบริษัท ไทยเดย์ ด็อทคอม จำกัด ถ.พระอาทิตย์ ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งของสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.50 โดยมีทั้งผู้ที่เดินเท้า ขับขี่มอเตอร์ไซค์ แท็กซี่ และดารณีได้ใช้เครื่องกระจายเสียงบนรถสามล้อกล่าวโจมตีสนธิ


หมายเหตุ: อ่านรายละเอียดทั้งหมดของ 'กรณีดารณี ชาญเชิงศิลปกุล' คลิ้กที่นี่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น