ตัดสินให้ผิดตามฟ้อง เรียงกระทงลงโทษกรรมละ 6 ปี รวม 18 ปี ทนายเตรียมสู้คดีชั้นอุทธรณ์ ประชาชน 30 แห่ฟัง สื่อเสนอข่าว 'พิพากษา' พร้อมเพรียง 'ผู้จัดการ' ลงคำตัดสินละเอียดกว่าใคร 'รอยเตอร์' ชี้ ถือเป็นการใช้ก.กำหราบฝ่ายต่อต้านรัฐบาลและเสรีภาพในการแสดงออก ด้านผอ.เรือนจำเผยอาจให้ 'ดา' เป็นโฆษก
เรียงกระทงลงโทษทุกกรรม 3 กระทง 18 ปี
รายงานข่าวจากหลายสำนักระบุว่า เมื่อเวลา 9.00 น. วันนี้ (28 ส.ค. 52) ที่ห้องพิจารณาคดี 904 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ผู้พิพากษาและองค์คณะได้ขึ้นบัลลังก์อ่านคำตัดสินคดีที่ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล หรือ 'ดา ตอร์ปิโด' เป็นจำเลย ในความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และพระราชินี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือกฎหมาย 'หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ' เหตุจากการปราศรัยที่สนามหลวง 3 ครั้ง คือเมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 51, 13 มิ.ย. 51, 18 ก.ค. 51 และ 19 ก.ค. 51
ทั้งนี้ คำตัดสินระบุว่า จากพยานหลักฐานจำเลยได้กระทำผิดจริงตามข้อกล่าวหา และเป็นการกระทำผิดหลายกรรมต่างกัน ซึ่งศาลได้พิพากษาให้เรียงกระทงลงโทษทุกกรรม โดยลงโทษจำคุก 3 กระทง กระทงละ 6 ปี รวมจำคุก 18 ปี
ประเวศ ประภานุกูล ทนายความของดารณี ได้เปิดเผยภายหลังศาลมีคำพิพากษาว่า จะเตรียมการยื่นอุทธรณ์เพื่อสู้คดีต่อไป ส่วนจะยื่นขออภัยโทษหรือไม่นั้น ต้องรอดูผลคดีในชั้นฎีกาก่อน
ทนายขอ 'รอการตัดสิน' - ศาลยกคำร้อง
สำหรับกรณีที่ศาลอาญาได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 52 ให้พิจารณาคดีนี้โดยลับ ห้ามมิให้ประชาชนทั่วไปเข้าฟัง โดยอ้างตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 177 ซึ่งต่อมาเมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 52 ทนายจำเลยได้ยื่นคำร้อง โดยอ้างสิทธิขั้นพื้นฐานในกระบวนพิจารณาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 29 ,40 (2) และ 211 ขอให้ศาลอาญาส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เนื่องจากฝ่ายจำเลยเห็นว่าบทบัญญัติมาตรา 117 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ที่ศาลอาศัยอำนาจสั่งให้การพิจารณาคดีลับนั้น ขัดและแย้งกับกฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญยังไม่เคยมีการวินิจฉัยเรื่องนี้ และขอให้ศาลอาญารอการพิจารณาพิพากษาคดีนี้ไว้เป็นการชั่วคราว จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แต่ศาลอาญาได้พิจารณายกคำร้องดังกล่าวในวันเดียวกัน โดยระบุว่า การพิจารณาลับนั้นไม่ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 211 เนื่องจากจำเลยมีทนายแก้ต่าง และสามารถนำพยานหลักฐานมายังศาลได้อย่างครบถ้วน การพิจารณาคดีจึงดำเนินต่อไป[1]
ต่อมา ทนายจำเลยได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญด้วยตนเอง เมื่อวันที่ 27 ส.ค. 52 โดยศาลรัฐธรรมนูญได้ลงประทับรับคำร้องดังกล่าวแล้ว จากนั้นทนายจำเลยได้นำสำเนาคำร้องมายื่นต่อศาลอาญาในวันที่ 28 ส.ค. 52 ก่อนที่จะมรการอานคำตัดสินคดี เพื่อร้องขอให้รอการตัดสินคดีนี้ไว้เป็นการชั่วคราว จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แต่องค์คณะผู้พิพากษาวินิจฉัยแล้วมีคำสั่งให้ยกคำร้องเช่นเดิม ก่อนจะอ่านคำพิพากษาดังกล่าว
ทั้งนี้ ในวันตัดสินคดีทนายจำเลยได้แจกจ่ายสำเนาเอกสารคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญแก่ประชาชนและผู้สื่อข่าวด้วย
ประชาชน 30 ร่วมเข้าฟัง
ผู้สื่อข่าวหลายสำนักรายงานว่า ได้มีประชาชนประมาณ 30 คน รวมทั้งผศ.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความสนใจเข้าร่วมรับฟังการตัดสินคดีนี้
รายงานข่าวในประชาไทระบุว่า ภายหลังที่ศาลมีคำพิพากษาแล้ว ดารณีได้กล่าวกับผู้สื่อข่าวและประชาชนที่มาว่า "นี่คือยุคของการต่อสู้ทางความคิด" ก่อนจะเดินทางไปยังห้องพิจารณา 908 ต่อทันที เพื่อรับฟังการการสืบพยานจำเลย ในคดีที่พล.อ. สพรั่ง กัลยาณมิตร ฟ้องหมิ่นประมาท ซึ่งศาลได้นัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 16 ก.ย. 52
สื่อไทยพร้อมใจเสนอข่าว - 'ผู้จัดการ' ลงคำตัดสินละเอียดกว่าใคร
การตัดสินคดีนี้ได้รับความสนใจและถูกนำเสนอเป็นข่าวโดยสื่อมวลชนในประเทศจำนวนมาก อาทิ ประชาไท, มติชนออนไลน์, ASTV ผู้จัดการออนไลน์, ThaiENews, ไทยรัฐ, โพสต์ ทูเดย์, คมชัดลึก , MCOT News ฯลฯ
โดยเวบไซต์ ASTV ผู้จัดการออนไลน์, ได้รายงานข่าวนี้ภายใต้หัวข้อ 'ขัง 18 ปี “นังดา” โอหัง! อาฆาตเบื้องสูง' ซึ่งในเนื้อข่าวได้นำเสนอคำตัดสินคดีอย่างละเอียดกว่าที่ปรากฏในสื่ออื่นๆ ดังนี้
"...ตามฟ้องโจทก์ สรุประหว่างเดือน ม.ค.-มิ.ย.2551 เวลากลางคืน จำเลยขึ้นปราศรัยบนเวทีเสียงประชาชน ณ ท้องสนามหลวง ด้วยการกระจายเสียงทางเครื่องขยายเสียง ท่ามกลางประชาชนที่มาฟังจำนวนหลายคน ซึ่งเป็นบุคคลที่สาม โดยกล่าวคำพูดจาบจ้วง ล่วงเกิน เปรียบเทียบและเปรียบเปรย หมิ่นประมาท ดูหมิ่น และแสดงความอาฆาตมาดร้ายถึงองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ องค์ปัจจุบัน ทำให้ประชาชนเข้าใจว่าทั้งสองพระองค์ทรงเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการชุมนุม ประท้วงของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เพื่อจะล้มล้างรัฐบาล และการรัฐประหาร
ทั้งนี้ โดยประการที่น่าจะทำให้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระมหากษัตริย์ และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสื่อมเสียพระเกียรติยศชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น และถูกเกลียดชัง โดยเจตนาจะทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพสักการะพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระมหากษัตริย์ และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เหตุเกิดที่แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ขอให้ลงโทษจำเลยตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
โดยศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์แล้ว มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ชนะสงคราม 3 นาย เบิกความว่า เมื่อวันที่ 18 ม.ค.2551 เวลา 21.00 น.และ 24.00 น.จำเลยขึ้นเวทีปราศรัยที่ สนามหลวง โดยพยานทั้งสามเป็นสายสืบฟังการปราศรัย และพบว่า จำเลยกล่าวข้อความดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ ก็ได้บันทึกเสียงลงในเครื่องบันทึก เอ็มพี3 และได้บันทึกลงในแผ่นซีดี แล้วนำมาถอดเทป และจำเลยยังขึ้นปราศรัยกล่าวดูหมิ่นอีกในวันที่ 7 และ 13 มิ.ย.2551 ซึ่งได้บันทึกเสียงไว้ แล้วก็ได้แจ้งข้อหาดำเนินคดีจำเลย โดยพยานโจทก์ เบิกความด้วยว่า แผ่นซีดีบันทึกเสียงที่เป็นหลักฐาน พบว่า เป็นเสียงคนๆ เดียวกัน จึงฟังได้ว่าตามวันเวลาดังกล่าวจำเลย ได้ขึ้นเวทีปราศรัย ขณะที่ถ้อยคำที่จำเลยกล่าวบนเวที ก็พบว่า แม้จะไม่ระบุตัวบุคคลที่ถูกกล่าวถึงอย่างชัดแจ้ง แต่ถ้อยคำที่กล่าวถึง เช่น สัญลักษณ์สีเหลือง สีฟ้า ในการเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรฯ ซึ่งเป็นสีประจำวันประสูติของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระมหากษัตริย์ และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทำให้เห็นว่าจำเลยกระทำการจาบจ้วงล่วงเกิน โดยทำให้ประชาชนเข้าใจว่าทั้งสองพระองค์สนับสนุนการเคลื่อนไหวของกลุ่ม พันธมิตรฯ ทำให้ทั้งสองพระองค์ต้องเสื่อมเสียเกียรติยศชื่อเสียง
รวมทั้งการกล่าวถึงการรัฐประหาร โดยกล่าวถ้อยคำถึงมือที่มองไม่เห็นหลังสี่เสาเทเวศร์ ซึ่งประชาชนรับรู้อยู่แล้วว่าสี่เสาเทเวศร์ คือ สถานที่ที่เป็นบ้านพักของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี โดยการแต่งตั้งองคมนตรี นั้น ตามรัฐธรรมนูญบัญญัติให้เป็นอำนาจพระมหากษัตริย์ในการแต่งตั้ง ถ้อยคำของจำเลยจึงทำให้ประชาชนเข้าใจว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สนับสนุน พล.อ.เปรม ในการยึดอำนาจจากประชาชน ซึ่งล้วนเป็นเท็จ
โดยแม้ว่าชั้นพิจารณาจำเลย จะเบิกความว่า จดจำถ้อยคำที่กล่าวปราศรัยไม่ได้ว่ามีประเด็นใดบ้าง และจดจำวัน-เวลาไม่ได้ แต่จำเลยก็ไม่ได้นำสืบโต้แย้งว่าไม่ได้กล่าวถ้อยคำที่โจทก์ยื่นฟ้อง ซึ่งแม้ว่าคำพูดของจำเลยไม่บังเกิดผลเพราะไม่มีใครเชื่อ แต่จำเลยก็ไม่อาจพ้นผิด พยานหลักฐานโจทก์จึงรับฟังได้ว่าจำเลยกล่าวคำพูดจาบจ้วง ดูหมิ่น และแสดงความอาฆาตมาดร้าย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ บรมราชินีนาถ
พิพากษาว่า จำเลยกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งกระทำผิดหลายกรรมต่างกันให้เรียงกระทงลงโทษทุกรรม ให้จำคุก 3 กระทงๆ 6 ปี รวมจำคุก 18 ปี…"
เตรียมย้ายแดน ผอ.เรือนจำเผยอาจให้เป็นโฆษก
ด้านรายงานข่าวในเวบไซต์มติชนออนไลน์ ระบุว่า อังคนึง เล็บนาค ผู้อำนวยการทัณฑสถานหญิงกลาง ได้เปิดเผยในวันเดียวกันว่า ทางเรือนจำจะแยกดารณีออกจากแดนแรกรับไปคุมขังยังแดนนักโทษทั่วไป เพราะถือว่าเป็นนักโทษเด็ดขาด จากนั้นจะให้ทำงานตามโปรมแกรมที่จัดไว้ อาทิ เย็บปักถักร้อย ทำอาหาร งานห้องสมุด งานสาธารณะ รักษาความสะอาดเรือนจำ งานคอมพิวเตอร์ หรืองานโฆษกซึ่งมีหน้าที่ประชาสัมพันธ์เมื่อทางทัณฑสถานจัดกิจกรรม แต่ขณะนี้ยังไม่ทราบว่าดารณีต้องการทำงานประเภทใด ต้องให้เจ้าตัวเป็นผู้ตัดสินใจ แต่ถ้าชอบการพูด อาจจะทำหน้าที่เป็นโฆษกประจำคุก อย่างไรก็ตามต้องได้รับการเสียงโหวตจากเพื่อนผู้ต้องขัง ว่าเหมาะสมหรือไม่
ผอ.ทัณฑสถานฯเปิดเผยเพิ่มเติมว่า สำหรับสภาพจิตใจของดารณีนั้น ขณะนี้ตนเห็นว่าสามารถปรับตัวเข้ากับเพื่อนๆ ได้แล้ว แต่ตนก็เชื่อว่าการฟังคำตัดสินวันนี้ (28 ส.ค.) อาจทำให้รู้สึกเครียดบ้าง เพราะต้องถูกจำคุกถึง 18 ปี โดยทางเรือนจำได้เตรียมจัดเจ้าหน้าที่และนักโทษช่วยดูแลในช่วงนี้แล้ว ซึ่งคาดว่าไม่น่ามีปัญหาอะไร เพราะดารณีเคยอยู่มาแล้วช่วงหนึ่ง น่าจะทำใจได้บ้างแล้ว
ผอ.ทัณฑสถานฯกล่าวด้วยว่า ดารณีเป็นนักโทษชั้นกลาง มีพฤติกรรมดี ไม่ก่อความวุ่นวาย และสามารถได้รับการพิจารณาเลื่อนเป็นนักโทษชั้นดี ชั้นดีมาก และชั้นเยี่ยม ได้เช่นเดียวกับนักโทษรายอื่นๆ ซึ่งการเลื่อนชั้นดังกล่าว คณะกรรมการจะพิจารณาจากความประพฤติขณะต้องโทษ ซึ่งความประพฤติของนักโทษแต่ละคนจะถูกบันทึกไว้เป็นคะแนนสะสม เมื่อถึงวันพิจารณาก็จะนำสมุดที่บันทึกนี้มาพิจารณาประกอบ โดยหากได้เลื่อนเป็นนักโทษชั้นดีก็จะได้ลดวันต้องโทษลง 3 วัน ชั้นดีมากได้ลด 4 วัน ส่วนชั้นเยี่ยมได้ลด 5 วัน
'รอยเตอร์' ชี้ ถือเป็นการใช้กม.กำหราบ
เวบไซต์ ThaiENews ได้เผยแพร่รายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์เกี่ยวกับการตัดสินครั้งนี้ ซึ่งรอยเตอร์ได้ชี้ว่า ผลการตัดสินให้ดารณีติดคุก 18 ปีนั้น ถือเป็นการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพกำหราบฝ่ายต่อต้านรัฐบาล และเสรีภาพในการแสดงออก ในประเทศไทย พร้อมทั้งให้ข้อมูลด้วยว่า ได้มีการพิจารณาคดีนี้เป็นการลับโดยอ้างเหตุผลด้านความมั่นคง ซึ่งเรื่องนี้องค์การนิรโทษกรรมสากลได้เคยทำจดหมายเปิดผนึกคัดค้านมาแล้ว เนื่องจากเห็นว่าจะทำให้การพิจารณาคดีไม่เป็นธรรมต่อจำเลย
ในรายงานเดียวกันของรอยเตอร์ ยังได้อ้างถึงคำให้สัมภาษณ์ของดารณี ที่ระบุว่า เธอไม่มีจุดมุ่งหมายทางการเมืองที่จะเคลื่อนไหวให้ยกเลิกสถาบันกษัตริย์แต่อย่างใด แต่สนับสนุน "ความยั่งยืนของสถาบันกษัตริย์แบบเดียวกับที่ดำรงอยู่ในสหราชอาณาจักรและญี่ปุ่น"
[1] ดูรายละเอียดใน 'กรณีดารณี ชาญเชิงศิลปกุล' 25 มิถุนายน 2552.